ป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณริมคลองรอบกรุง ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีแนวกำแพงเมืองต่อไปเป็นแนวตามถนนมหาไชย
ประวัติ
ป้อมมหากาฬ เป็นป้อมที่ใช้รักษาพระนครสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนกลางของกำแพงเมืองสร้างขึ้นพร้อมกับอีก 14 ป้อม แต่ไม่ปรากฏมีวังของเจ้านายอยู่บริเวณริมป้อม เข้าใจว่าคงจะอยู่ในความดูแลของวังอื่นอยู่แล้ว
เมื่อ พ.ศ. 2471 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชบัณฑิตยสภาได้แจ้งกระทรวงมหาดไทย ขอสงวนป้อมมหากาฬไว้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรขอให้กรมโยธาเทศบาลช่วยดูแลรักษา ครั้นเมื่อถึงสมัยเทศบาลนครกรุงเทพฯ พ.ศ. 2481 นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพแจ้งมายังกรมศิลปากรว่า มีผู้ขอเช่าป้อมมหากาฬเพื่อจัดเป็นรมณียสถาน โดยรับรองว่าจะไม่ปลูกสร้างสิ่งใดบนป้อมนี้ กรมศิลปากรพิจารณาแล้ว เห็นว่าป้อมมหากาฬมิใช่ปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชา และเมื่อผู้ขอเช่ารับรองจะช่วยซ่อมแซมสถานที่ให้ด้วย เห็นว่าไม่เสียหายก็อนุญาตตามเทศบาลเสนอ แต่มีเหตุขัดข้องจึงมิได้ทำสัญญาเช่าในครั้งนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬไว้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถานศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระพุทธศักราช 2477
ตามแนวกำแพงตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ยังมีพื้นที่ ชานกำแพง เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ (พื้นที่ชานกำแพง คือ พื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่น เช่น ตามลำคลองมหานาค คลองแสนแสบ และคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่นๆ ชุมชนชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ป้อมมหากาฬเป็นป้อมขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม วัดจากฐานรากชั้นนอกด้านทิศเหนือจรดฐานด้านทิศ ใต้กว้าง 38 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงปลายใบเสมา 4.90 เมตร และจากพื้นดินถึงหลังคาป้อม 15 เมตร โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน รากฐานอยู่ใต้ระดับผิวดิน ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 1 และ 2 กำแพงป้อมเป็นแบบใบเสมาเหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นกำแพงปีกกาที่ต่อออกมาจากกำแพงป้อมชั้นที่ 2 มีลักษณะใบเสมาปลายแหลมเหมือนกำแพงเมือง ตัวป้อมชั้นบนสุดมีลักษณะเป็นหอรูปแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้า 1 ประตู หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้องทรงคล้ายฝาชีหรือใบบัว คว่ำ 2 ชั้น ที่ป้อมชั้นล่างมีปืนใหญ่ตั้งประจำช่องเสมาเป็นจำนวน 6 กระบอก กำแพงเมืองที่ต่อจากป้อมมหากาฬไปตามแนวถนนมหาไชยนั้น มีลักษณะเป็นกำแพงมีเชิงเทิน ใบเสมาชนิดปลายแหลม ยาว 180 เมตร ถูกตัดขาดเป็นช่วงๆรวม 4 ช่วง กำแพงช่วงยาวมีช่องประตูรูปโค้งแบบประตูช่องกุดใต้เชิงเทิน 3 ประตู สองข้างช่องประตูเป็นบันไดขึ้นสู่ชานบนกำแพง ในพุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะป้อมและกำแพงเมือง เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้ก่อคอนกรีตแนวเชิงเทินเชื่อมช่วงกำแพงที่ขาดเข้าด้วยกันตามแบบเดิม
ป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองทั้งหมดได้รับการบูรณะส่วนที่ชำรุดและทาสีใหม่หลายครั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ชุมชน มีแขกเมืองและนักท่องเที่ยวผ่านอยู่เสมอ ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการติดไฟสำหรับส่องป้อมให้เกิดความงดงามในเวลากลางคืนด้วย ภาพของป้อมมหากาฬเคยได้รับการนำลงพิมพ์ในธนบัตรใบละ 10 บาท ในรัชกาลปัจจุบันอยู่ช่วงระยะหนึ่ง เมื่อมีการประดับประดาประทีปโคมไฟเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนงานโอกาสพิเศษอื่นๆ ป้อมมหากาฬจะได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยเสมอ เพราะเป็นป้อมที่มีลักษณะสง่างาม ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินอันเป็นถนนสายสำคัญของพระนคร
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬพร้อมด้วยกำแพงเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 65 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492
บรรณานุกรม
ธรรมเกียรติ กันอริ. พระนครควรชม : ฉบับเที่ยวไปให้ไกล จากใกล้เกลือกินด่าง. กรุงเทพฯ : พิราบ,2541.
เทพชู ทับทอง. กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี. กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2525.