อนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 12)
ที่ตั้ง
บริเวณสี่แยกคอกวัว หัวมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนตะนาวทางด้านใต้ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย จนสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการลงได้ ภายหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2517 รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีมติให้สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยในปี 2517 ได้มีการประกวดแบบอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม โดยมีนายเทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวง เป็นผู้ชนะเลิศในการประกวดแบบครั้งนั้น ต่อมาในปี 2518 สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ บริเวณที่ก่อสร้างของอนุสรณ์สถานต้องต่อสู้ยืดเยื้อมาให้ได้มาถึง 25 ปี
6 ตุลาคม 2519 เกิดความรุนแรงทางการเมืองจนการดำเนินงานสะดุดลง ไม่สามารถก่อสร้างได้ จนกระทั่งในปี 2528 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้นำเอารูปปั้นจำลองอนุสาวรีย์มาตั้ง แต่ตัวอนุสรณ์สถานยังคงไม่สามารถเริ่มทำการก่อสร้างได้
ปี 2532 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม โดยมีรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยเป็นประธาน และสืบเนื่องมาถึงปี 2540 ได้เปลี่ยนให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่การดำเนินงานก็ยังไม่คืบหน้าไป
ปี 2541 อันเป็นโอกาสครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา และองค์กรญาติวีรชนได้เจรจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 เพื่อขอเช่าที่ดินบริเวณสี่แยกคอกวัว โดยให้มูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่ง ศ.ระพี สาคริก เป็นประธานเป็นผู้เช่า และในครั้งนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้ยินยอมให้เช่าและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้
ปี 2543 จึงสามารถลงเสาเข็มอนุสรณ์สถานได้ และดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2544 และมีการจัดงานเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
หลักการและความหมายของอนุสรณ์สถาน
คณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ภายใต้สังกัดมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก กรุงเทพมหานคร ญาติวีรชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งมี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้วเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ผู้ชนะการประกวดแบบในปี 2517 เป็นผู้พัฒนาแบบเดิมให้เหมาะกับยุคสมัย ตามแนวคิด คือ
- เคารพความจริงของประวัติศาสตร์
- ให้ประชาชนส่วนต่างๆ เช่น เด็ก ผู้หญิง ศิลปิน กวี ชาวบ้าน มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และให้มีความหมายกับสาธารณะชนที่จะเป็นบทเรียน เป็นเครื่องจูงใจให้คนไทยมุ่งแก้ปัญหาและต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีงามให้กับสังคมไทย
สิ่งก่อสร้างภายในอนุสรณ์สถาน
1. อาคารอนุสรณ์สถาน
สถาปนิกได้นำแนวคิดไปพัฒนาเป็นอนุสรณ์สถานที่เน้นความสงบนิ่ง โล่งกว้าง และเรียบง่าย เพื่อรำลึกและคารวะต่อวีรชน มีประติมากรรมที่รำลึกอยู่ใจกลาง อาคารประกอบด้วยสวนหย่อม ลานกิจกรรมสำหรับการอภิปราย ฟังเพลง และการแสดง รวมทั้งส่วนที่เป็นห้องสมุด ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตย
ผังพื้นของอนุสรณ์สถาน |
ลักษณะอาคารเป็นรูปวงกลมมีลานตรงกลาง สร้างลึกลงไปใต้ดิน 3 ชั้น มีชั้นบนสุดอยู่ระดับเดียวกับถนน มีบันไดทางขึ้นจากถนนได้ 3 ทาง คือ ทางด้านหน้าซึ่งเปิดออกสู่ถนนราชดำเนินกลาง และด้านข้างทั้งสองข้าง ชั้นบนเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ลานกิจกรรม และที่ตั้งประติมากรรมที่รำลึก ชั้นสองเป็นส่วนของสำนักงาน และชั้นล่างสุดเป็นส่วนของห้องสมุด ห้องประชุม มีคอร์ทตรงกลางซึ่งเปิดโล่งไปถึงชั้นบนสุด อาคารเป็นรูปแบบโมเดิร์น
ส่วนนิทรรศการชั้นบนสุด | คอร์ทกลางเปิดโล่งถึงชั้นบนสุด | ลานกิจกรรมรูปครึ่งวงกลมชั้นบนสุด |
2. ประติมากรรมที่รำลึก
ประกอบด้วยฐานทรงสี่เหลี่ยม 5 เมตร ช่วงกลางปลายสอบเข้ายาว 7 เมตร และยอดแหลมทรงสถูปสีทองสูง 2 เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น 14 เมตร ทรงสถูปเป็นรูปทรงสากลที่แสดงถึงจิตวิญญาณสูงส่งของมวลมนุษย์ ส่วนปลายยอดสถูปมีรอยหยักคล้ายสร้างไม่เสร็จ เพื่อสื่อความหมายว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ยอดปลายสถูปทำด้วยวัสดุโปร่งแสงเพื่อให้เห็นแสงไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ แฝงนัยถึงไฟแห่งประชาธิปไตยที่เป็นอมตะ
ประติมากรรมที่รำลึก | ยอดสถูปที่คล้ายกับสร้างไม่เสร็จ |
ฐานทั้งสี่ด้านบุด้วยกระเบื้องดินเผาที่แข็งแกร่ง ฐานด้านหน้ามีป้ายจารึกว่า “ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยของประชาชน ” รายชื่อวีรชน 14 ตุลา และรายล้อมด้วยบทกวีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิเสรีภาพ ภาพศิลปะจากการสร้างสรรค์ของศิลปินกลุ่มต่างๆ เพื่อสื่อถึงการเติบโตงอกงามของสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย
ด้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นภาพศิลปะบนกระเบื้องดินเผา เพื่อแสดงถึงอุดมคติและแง่มุมปัญหาต่างๆ ของสังคมไทยจากกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในประติมากรรมนี้อย่างกว้างขวางที่สุด โดยที่ด้านที่ 2 เป็นเรื่องสังคมไทยในอุดมคติ ด้านที่ 3 เรื่องความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม และด้านที่ 4 เรื่องความยุติธรรมซึ่งเป็นหลักการนามธรรมกว้างๆ ส่วนบันทึกเหตุการณ์รูปธรรม หนังสือ ภาพถ่าย งานศิลปะและบทกวีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา จะถูกรวบรวมและนำแสดงไว้ในส่วนพิพิธภัณฑ์
งานประติมากรรมที่รำลึกนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบได้ร่วมมือกับศิลปินและช่างฝีมือฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยมีคณะบดีคณะจิตรกรรม ศิลปกรรม ภาพพิมพ์ของ 5 มหาวิทยาลัยในประเทศเป็นกรรมการสร้างสรรค์และจัดการงาน
บรรณานุกรม
พิธีเปิดอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2544.