ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน
ที่ตั้ง
ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน ตั้งอยู่ในซอยดำเนินกลางเหนือ ด้านข้างโรงเรียนสตรีวิทยา แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับชุมชนตรอกบวรรังษี
ทิศใต้ ติดกับซอยไปรษณีย์ราชดำเนิน
ทิศตะวันออก ติดกับโรงเรียนสตรีวิทยา
ทิศตะวันตก ติดกับถนนตะนาว
ประวัติ
ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินเป็นชุมชนดั้งเดิมมีอายุกว่า 80 ปี เนื้อที่ประมาณ 4.3 ไร่ ที่ดินเป็นของเอกชน และที่สาธารณะโดยเฉพาะบริเวณที่ดินที่เป็นที่สาธารณะมีโครงการจะทำถนนตามโครงการเชื่อมถนนตะนาวกับถนนประชาธิปไตย
คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เดิมชาวมุสลิมเหล่านี้อาศัยอยู่แถบจังหวัดปัตตานี แล้วย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก่อนมีครอบครัวชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ.2524 บ้านเรือนในละแวกนี้ถูกไฟไหม้เกือบหมด จึงพากันแยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนใหญ่นิยมไปอยู่แถบบางกะปิ เพราะมีพี่น้องชาวมุสลิมอาศัยอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนก็ย้ายไปอยู่แถวตลิ่งชันก่อน เมื่อสร้างบ้านใหม่แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินหลายครอบครัว
การประกอบอาชีพ
ในอดีตชุมชนนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำทอง สืบเนื่องจากในสมัยก่อนที่มีการทำทองอยู่แถวถนนตีทองถึงสี่แยกคอกวัวเรียกว่า “ บ้านช่างทอง” ทำทองรูปพรรณและทองคำเปลว ซึ่งเป็นแผ่นทองคำที่ตีจนบางที่สุด และมีช่างแกะสลักกรอบพระเป็นลวดลายต่างๆ เช่น กรอบพระนาคปรกก็แกะสลักเป็นรูปพญานาคมีเจ็ดเศียร ชาวบ้านจะรับงานจากร้านทองมาทำที่บ้าน แต่การทำทองนั้นมีความยากลำบาก และเป็นงานที่ละเอียดประณีต คนที่จะทำได้ต้องใจเย็น รักที่จะทำงานประเภทนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนที่ทำทองรุ่นก่อนค่อยๆ เลิกทำกัน ลูกหลานที่ได้เรียนหนังสือมีความรู้มักประกอบอาชีพรับราชการ ทำงานบริษัท ไม่รับมรดกตกทอดความรู้เรื่องนี้ จึงทำให้อาชีพทำทองในย่านนี้ลดน้อยลง ปัจจุบันในชุมชนแห่งนี้เหลือบ้านที่ทำทองคำเปลวเพียง 2 หลังเท่านั้น
การทำทองในแต่ละครั้งจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะได้ทองคำเปลวแผ่นบางๆ เริ่มจากการเอาทองคำมาตีด้วยเครื่องมือที่ทำไว้โดยเฉพาะ ตีแผ่ออกไปจนบางจากนั้นนำมาตัดริมให้ได้ขนาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วนำมาใส่กระดาษบางอย่างที่เขานำไปขายให้ปิดทองพระพุทธรูป ทองคำเปลวมีหลายชนิด ชนิดใหญ่ค่อนข้างหนาเรียกว่า “ทองประทาศรี” และ “ทองประทากล้อง” กับชนิดบางธรรมดา ซึ่งมีลักษณะที่บางมาก และอาจถูกลมพัดไปได้ง่าย จึงต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมากในการทำทองคำเปลวรูปแบบนี้ ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย มีส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพรับราชการและรัฐวิสาหกิจ
สภาพทั่วไปของชุมชนคือ มีการตั้งบ้านเรือนสองข้างทางถนนภายในชุมชน โดยถนนกว้างประมาณ 1.5 เมตร บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น มีร้านค้าภายในชุมชน และสิ่งสำคัญในชุมชนในชุมชนคือ มัสยิดบ้านตึกดิน ซึ่งตั้งอยู่กลางชุมชน เป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มัสยิดแห่งนี้ก่อนที่จะมีไฟไหม้ใหญ่ในปีพ.ศ. 2524 มีลักษณะเป็นศาลาไม้เท่านั้น แต่หลังจากไฟไหม้แล้วก็สร้างเป็นอาคารปูนอย่างในปัจจุบัน
ศาสนาและประเพณี
คนในชุมชนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งหลักปฏิบัติ มี 5 ประการ คือ
- การปฏิบัติตน "ไม่มีพระเจ้าองค์ใด นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮำมัด คือศาสนฑูตแห่งพระองค์"
- การนมาซ หรือ ละหมาด มุสลิมต้องละหมาดวันละ 5 ครั้ง ( ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ กลางคืน ) การละหมาด ซึ่งอาจเข้าไปทำที่มัสยิดบ้านตึกดิน หรือที่บ้านก็ได้แต่ต้องหันหน้าไปทางเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอาจเข้าไปทำที่มัสยิดบ้านตึกดิน หรือที่บ้านก็ได้
- การถือศีลอด
- การบริจาคซะกาต
- การประกอบพิธีฮัจญ์
ประเพณีวัฒนธรรม ส่วนมากชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดประเพณีต่าง ๆ เช่น งานวันปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนา งานการกุศลมุสลิมบ้านตึกดิน และวันสำคัญต่าง ๆ
บรรณานุกรม
ปราณี กล่ำสัม. เมื่อวันวานที่ย่านถนนดินสอ. วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 27 ฉบับ 1 (ม.ค.-มิ.ย.44) หน้า 128.
สัมภาษณ์ผู้นำชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน วันที่ 27 กรกฎาคม 2547