ตึกแถวถนนตะนาว
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณถนนตะนาวตั้งแต่ถนนสิบสามห้าง วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ผ่านสี่แยกคอกวัวถนนราชดำเนิน จนถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า ตัดกับถนนบำรุงเมือง
ประวัติ
เมื่อแรกตัดถนนเฟื่องนครในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่กำแพงพระนครทิศใต้ที่มุมวังกรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นถนนขวางผ่านบ้านหม้อและถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมืองไปจบวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถึงกำแพงพระนครด้านทิศเหนือ ซึ่งรวมเอาถนนตะนาวในปัจจุบันด้วย ในรัชกาลนั้นโปรดให้สร้างตึกแถวริมถนนดังกล่าว อุทิศเป็นสมบัติของวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐ์ ตึกดังกล่าวเป็นตึกชั้นเดียวถ่ายแบบมาจากตึกของประเทศสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันตึกแถวที่คงอยู่นั้นเป็นตึกแถว 2 ชั้น เข้าใจว่ามาสร้างขึ้นภายหลังรัชกาลที่ 5 โดยดูจากลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่นิยมอย่างแพร่หลายในรัชกาลที่ 5 ซึ่งก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น การรับอิทธิพลศิลปะตะวันตกมาตกแต่งอาคารหรือรูปทรงมีแต่เฉพาะวังเจ้านาย และบ้านคหบดีเท่านั้น บ้านเรือนคนธรรมดาหรือบ้านแถวที่เกิดขึ้นนั้นเลียนแบบอิทธิพลของศิลปะแบบจีนมากกว่า
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ตึกแถวสองข้างริมถนนตะนาวมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีเพียงบางส่วนที่มีการตกแต่งที่แปลกออกไป อาจจะแยกตึกแถวริมถนนตะนาวนี้ออกเป็น 3 บริเวณ คือ ตึกแถวบริเวณบางลำพู บริเวณหน้าวัดมหรรณพาราม บริเวณศาลเจ้าพ่อเสือลงไปทางทิศใต้จนถึงสี่กั๊กพระยาศรี
ตึกแถวบริเวณถนนตะนาวช่วงบางลำพู
อาคารเป็นตึก 2 ชั้น หลังคามุมกระเบื้องว่าวมีขอบสัน หลังคาอาคารชั้นล่างเปลี่ยนจากสภาพเดิม แต่ข้างหน้ายังคงเป็นบานประตูไม้แบบบานเฟี้ยมและเคยมีชายคาปูคลุมทางเดิน ชั้นบนยังคงสภาพเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ละคูหามีบานหน้าต่าง 2 ช่อง เป็นบานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ช่องแสงเหนือขอบบนของหน้าต่างเป็นไม้ฉลุลาย หน้าต่างแต่ละบานมีกันสาดติดไม้ฉลุลายที่ปลายมีเสาหลอกปูนปั้นทรงสี่เหลี่ยมไม่มีหัวเสา เซาะร่องตามแนวนอนคั่นแต่ละคูหา
ตึกแถวริมถนนตะนาวบริเวณวัดมหรรณพาราม
อาคารมีลักษณะใกล้เคียงกับตึกแถวบริเวณบางลำพู แตกต่างเป็นบางส่วนคือ ช่องหน้าต่างชั้นบนมีช่องแสงเป็นบานเกล็ดไม้แทนช่องฉลุลายและไม่มีกันสาด ผนังชั้นบนเรียบไม่มีเสาฝาผนัง ส่วนชั้นล่างมีชายคาปูนเป็นกันสาดคลุมทางเท้ายาวไปตลอดแนวอาคาร