วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

ที่ตั้ง
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนท้ายวัง พระบรมมหาราชวัง
ทิศใต้ จรด ถนนซอยแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์
ทิศตะวันออก จรด ถนนสนามชัย กรมรักษาดินแดน
ทิศตะวันตก จรด ถนนมหาราช ตลาดท่าเตียน

ประวัติ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อวัดโพธาราม ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดโพธิ์" เป็นวัดโบราณราษฎรสร้างระหว่าง ปี พ.ศ. 2231-2246 ในรัชกาลพระเพทราชา สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยธนบุรีพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารมหลวงมีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการบูรณะใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2332 ใช้เวลาสร้าง 7 ปี 5 เดือน 18 วัน โปรดเกล้าให้จัดงานฉลองและพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ" เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมาใน พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งใช้เวลา 16 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้ายู่หัวทรงปฏิสังขรณ์พระรัศมีพระพุทธไสยาสน์ และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" พร้อมทั้งทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4 ขึ้นในวัดองค์หนึ่งเรียกว่าเจดีย์รัชการลที่ 4 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้กระทรวงโยธาธิการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์จนถึงปัจจุบัน การบูรณะใหญ่ครั้งที่ 2 ดำเนินการในสมัยรัชกาลที่ 5 และการบูรณะใหญ่ครั้งที่ 3 ดำเนินการในรัชกาลปัจจุบัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
วัดนี้แบ่งบริเวณออกเป็น 2 ส่วน มีถนนเชตุพนคั่นกลางวัด ดังนี้
1. เขตพุทธาวาส ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ศาลาการเปรียญ ศาลาราย พระพุทธรูปและพระมณฑป
2. เขตสังฆาวาส มีกุฏิพระสงฆ์ แบ่งเป็น 3 คณะ ใหญ่ ๆ คือ คณะเหนือ คณะกลาง และคณะใต้

เขตพุทธาวาส
เขตพุทธาวาสทั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบ หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออกติดถนนสนามชัยและกรมรักษาดินแดง รอบกำแพงมีประตูโดยรอบทั้งหมด 16 ประตู ทุก ๆ ประตู สร้างเป็นซุ้ม ยอดทรงมณฑปประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ อย่างวิจิตรสวยงามกว้างใหญ่เท่ากันหมด เขตพุทธาวาสนี้แบ่งออกเป็นบริเวณใหญ่ ๆ ได้ 2 บริเวณ คือ เขตชั้นในทางทิศตะวันออก ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหารทิศ พระระเบียง พระมหาธาตุปรางค์ พระมหาธาตุเจดีย์กลุ่ม พระวิหารคตเจดีย์ราย 71 องค์ และศาลาการเปรียญ เขตชั้นนอกทางด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วยพระมหาเจดีย์ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ หอระฆัง วิหารน้อย สระ วิหารพระนอน สวนมิสสกวัน และศาลาการเปรียญ 

watpho9  watpho1 watpho8 

พระอุโบสถ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ขยายและสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเป็นทรงรัตนโกสินทร์ฐานตรง เสาสี่เหลี่ยมแต่งมุมเป็นรูปเล็บมือ ปลายสอบเล็กน้อย ไม่มีบัวหัวเสาและตีนเสา หลังคามุขลดชั้นสามชั้นเครื่องบนหน้าจั่วเป็นเครื่องลำยองมีไขราหน้าจั่วต่อด้วยปีกนก พนักระหว่างเสาก่อด้วยกำแพงประดับศิลา ด้านนอกสลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ และมีโคลงจารึกบอกเรื่องไว้ด้านบน มีจำนวน 158 ภาพ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านในพระอุโบสถที่เชิงบุด้วยแผ่นศิลาสูงถึงระดับหน้าต่างผนัง ระหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคค 41 เรื่อง เสาในพระอุโบสถมี 16 ต้น เขียนเป็นลายดอกไม้ก้านแย่งสลับนกบานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกทั้ง 8 บาน เป็นลายภาพเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปพัดพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ทั้งฝ่านคามวสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง ซุ้มประตูทำเป็นทรงมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูทำเป็นทรงมงกุฎ บานหน้าต่างด้านนอกปิดทองประดับกระจกลายแก้วชิงดวง ด้านในหน้าต่างเขียนลายรดน้ำเป็นตราเจ้าคณะสงฆ์ กรอบเช็ดหน้าเขียนลายทองเป็นเครื่องเทศ รูปสัตว์ต่าง ๆ ข้างกบประดับกระเบื้องเคลือบเป็นดอกดวง ซุ้มหน้าต่างทำเป็นทรงมงกุฎ บริเวณกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถมีซุ้มประตู 8 ซุ้ม และซุ้มสีมา 8 ซุ้ม ประตูกำแพงแก้วมีรูปสางหล่อด้วยสำริดสร้างขึ้นแทนสิงห์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

watpho3 watpho2

พระระเบียงรอบพระอุโบสถ
สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นอาคารยาวรูปเหมือนกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 ชั้น ทำหน้าที่ปิดล้อมและเป็นทางเข้าออกพระอุโบสถ พระระเบียงชั้นในมีขนาดใหญ่กว่าพระระเบียงชั้นนอกปิดล้อมลานพระอุโบสถ ผนังด้านนอกปิดทึบประดิษฐานพระพุทธรูป 150 องค์ ที่มุมของแนวอาคารซึ่งออกแบบให้ผนังที่พบกันเป็นมุมฉากมีมุมเพิ่มตามแบบมุมไม้สิบสองของไทย พระระเบียงชั้นในสามารถสัญจรได้โดยรอบ ส่วนพระระเบียงชั้นนอกซึ่งมีขนาดเล็กกว่าออกแบบให้วางซ้อนอยู่ด้านนอกโดยรอบ แต่ตัดมุมฉากที่แนวอาคารมาพบกันให้วกกลับมาตั้งฉากกับอาคารพระระเบียงชั้นในแล้วเพิ่มมุมให้กับอาคารวิธีเดียวกับพระระเบียงชั้นในทำนองเดียวกับย่อมุมไม้สิบสอง แต่เส้นทางสัญจรไม่สามารถติดต่อได้ถึงกันตลอด เนื่องจากถูกแบ่งกั้นด้วยพระวิหารทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูป 244 องค์ ตามเสาพระระเบียงจารึกเพลงยาวกลบท 50 ฉันท์ วรรณพฤติ 50 ผนังพระระเบียงทั้ง 2 ชั้น ด้านในเป็นผนังทึบทำฐานชุกชี ผนังด้านหลังที่ตั้งพระพุทธรูป ในสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนเป็นเรือนแก้ว มีขวดปักดอกไม้ระหว่างเรือนแก้ว เหนือเรือนแก้วเขียนเป็นลายแบ่งขาว ผนังเขียนเป็นริ้วดอกไม้ขาว ผนังทึบทุกมุมมุขของมุมพระระเบียงเขียนเรื่องนนทุกปกรณัม ระหว่างพระระเบียงทั้ง 2 ชั้น ซึ่งเรียกว่าชาลาเป็นที่ว่างไม่มีหลังคาตั้งถะหินหรือเจดีย์จีน จำนวน 20 องค์ ช่องทางข้าออกทำเป็นเสาประดับกรอบประตู ปั้นปูนปิดทองประดับกระจก ปัจจุบันซุ้มพระระเบียงด้านในไม่มีแล้วเหลือเพียงรอยอยู่ทางด้านเหนือเท่านั้น

พระเจดีย์
พระเจดีย์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ประกอบด้วยเจดีย์ 4 ประเภท คือ พระเจดีย์ราย พระเจดีย์กลุ่ม พระปรางค์ และพระมหาเจดีย์ใหญ่ ดังนี้
พระเจดีย์ราย เป็นพระเจดีย์บรรจุอัสถิราชวงศ์ มีจำนวน 71 องค์ ออกแบบจัดวางอย่างเป็นระเบียบให้รายล้อมอยู่นอกวงพระระเบียงชั้นนอกของพระอุโบสถ พระเจดีย์รายนี้มีรูปแบบและสัดส่วนที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่งดงามที่สุดของยุครัตนโกสินทร์ เป็นแบบประเพณีนิยมประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบสีและศิลาเขียวเหมือนกันหมดทุกองค์ มีขนาดเล็กที่สุดในพระเจดีย์ทั้ง 4 ประเภทของวัด ลักษณะสำคัญจากฐานไปถึงยอดมีดังนี้ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อ 90 ฐานสิงห์ ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี 3 ชิ้น บัวปากระฆังทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี 3 องค์ระฆัง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ บัวกลุ่ม 9 ชั้น ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง

watpho6 watpho4 watpho5

     พระเจดีย์กลุ่ม เป็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ กลุ่มละ 5 องค์ ตั้งอยู่ที่ตรงมุมวิหารคต ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ ล้อมองค์กลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่และสูงกว่า ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์ 4 องค์เล็ก แบ่งเป็น ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานทักษิณ ฐานเขียง ฐานสิงห์ 2 ชั้น บัวถลา บัวลูกแก้วอกไก่ บัวปากระฆัง ส่วนองค์ระฆังประกอบด้วย องค์ระฆังและบัลลังก์ และส่วนยอดประกอบด้วย คอฐานยอด บัวถลา บัวกลุ่ม 7 ชั้นปลี ลูกแก้ว ปลียอด เม็ดน้ำค้าง ในขณะที่พระเจดีย์องค์กลาง ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงย่อมุมไม้สิบสอง ฐานสิงห์ 3 ชั้น บัวถลา บัวลูกแก้วอกไก่ บัวปากระฆัง ส่วนองค์ระฆังประกอบด้วย องค์ระฆังและบัลลังก์ และส่วนยอดประกอบด้วย คอฐานยอด บัวถลา บัวกลุ่ม 9 ชั้น ปลี ลูกแก้ว ปลียอด เม็ดน้ำค้าง

     พระปรางค์ ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงสี่เหลี่ยมตัดมุม ฐานสิงห์ 3 ชั้น ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วย ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เรือนธาตุ มีรูปปั้นเทวดายืนถือพระขรรธ์ในซุ้มคูหาทั้งสี่ทิศ บัวหงาย และส่วนยอดประกอบด้วยฐานยอดทำเป็นรูปปั้นมารแบก ปรางค์ ยอดนภศุล

     พระมหาเจดีย์ มีจำนวน 4 องค์ เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ได้แก่
      1. พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชรญดาญาณ เป็นพระมหาเจดีย์องค์กลางสีเขียว สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญ์" พระพุทธรูปองค์นี้เดิมอยู่วัดพระศรีสรรเพชรญ์ พระนครศรีอยุธยา ถูกพม่าเผาไฟลอกทองคำไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไม่สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ได้จึงอัญเชิญมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ และถือเป็นเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 เมื่อได้บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
     2. พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน อยู่ทางด้านเหนือองค์สีเหลือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่ออุทิศแด่พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือกันว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2
     3. พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขาร อยู่ทางทิสใต้องค์สีส้มย่อมุมไม้สิบสอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือกันว่าเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3
ลักษณะสำคัญของเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-3 จากฐานไปถึงยอดมีดังนี้ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลียมตัดมุมทำในรูปฐานสิงห์ ฐานสิงห์ 3 ชั้น ฐานบัวปากระฆัง (ส่วนฐานบัวปากระฆังนี้มีลักษณะพิเศาเพิ่มจากแบบประเพณีทั่วไปคือ ประกอบด้วยบัวคว่ำลูกแก้วอกไก่ บัวปากระฆังและบัวเชิงบาตร) ส่วนองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์ คอฐานยอดมีเ สาหารรอบ บัวถลา ส่วนยอดประกอบด้วย บัวกลุ่ม 11 ชั้น ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
     4. พระมหาเจดีย์ศรีสุริโยทัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกตรงกับองค์กลาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างเลียนแบบเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่วัดสวนหลวงสบสวรค์ พระนครศรีอยุธยา ลักษณะสำคัญของเจดีย์นี้ คือ ส่วนฐานสูง ประกอบด้วยฐานเขียงสูงทำเป็นฐานทักษิณ ฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสองและย่อเก็จเพิ่ม ย่อแบบ 45 องศา ฐานบัวลูกแก้วกลม ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนที่เป็นฐานเก็จเพิ่ม นั้นทำเป็นซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ เฉพาะทิศเหนือและทิศใต้มีเจดีย์กลมตั้งอยู่บนหลังคาซุ้ม ส่วนองค์เจดีย์ ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วกลม 3 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี ส่วนองค์ระฆังและส่วนบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองแบบย่อรัศมี คอฐานยอดมีเสาหาร ส่วนยอดประกอบด้วย ปล้องไฉน 21 ปล้อง ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง


บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com