ชุมชนป้อมมหากาฬ
ที่ตั้ง
ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต
ทิศตะวันออก ติดกับคลองโอ่งอ่าง
ทิศใต้ ติดคลองวัดเทพธิดาราม
ทิศเหนือ จรดสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ทิศตะวันตก ติดป้อมมหากาฬ
ประวัติ
ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนบริเวณชานเมืองพระนคร ชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ริมกำแพงชั้นในของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อมสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสร้างพระนครและพระบรมมหาราชวัง ป้อมมหากาฬนั้นเป็นป้อมหนึ่งที่ประจำพระนครด้านตะวันออก ต่อมาในปีพ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง
ในอดีตบริเวณชานเมืองกำแพงเคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามลำคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ ส่วนบริเวณภายนอกของแนวป้อมมหากาฬ คือที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพาร มีการปลูกสร้างอาคารเป็นแนวยาวตลอด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปผู้ที่อาศัยอยู่เดิมได้โยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ทิ้งสิ่งปลูกสร้างไว้ให้ผู้อื่นเช่า ขณะเดียวกันก็มีอาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นที่มาของชุมชนป้อมมหากาฬ
ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนที่มีกลุ่มคนที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยมีการผสมผสานเข้ากับผู้คนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้มี่ปลูกบ้านเรือนเก่าที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังปลูกอาคารที่สัมพันธ์กับท่าเรือที่จอดอยู่ริมป้อมมหากาฬ ชุมชนแห่งนี้แม้จะเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็กแต่กลับมีวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ เช่น การเลี้ยงนกเขาชวาและการทำกรงนกของไพบูลย์ ตุลารักษ์ หรือลุงติ่ง ที่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนมานานกว่า 40 ปีแล้ว จะจัดได้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งซื้อขายนกเขาชวาที่มีชื่อและเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปมากที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน อีกทั้งกรงนกก็เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก หรือจะเป็นการเลี้ยงไก่ชนของสำเริง ดาวสุก ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำต่อเนื่องกันมานานกว่า 30 ปี รวมทั้งการปั้นเศียรพ่อแก่ (หัวฤาษี) และปั้นตุ๊กตาดินเผารูปฤาษีดัดตนในอิริยาบถต่าง ๆ กัน ของกุศล เชยบุปผา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้แล้วชาวชุมชนป้อมมหากาฬยังประกอบอาชีพการทำกระเพาะปลา และรับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นอาชีพที่เกิดมาในภายหลังที่เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่อาชีพดั้งเดิมก็ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเหนียวแน่น เช่น การทำกรงนก และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
สถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ชุมชนป้อมมหากาฬนี้มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เหลืออยู่ เป็นอาคารบ้านเรือนที่มีอายุเก่าแก่ควรแก่การที่จะอนุรักษ์ไว้ นอกเหนือไปจากป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมือง เช่น บ้านเลขที่ 97 จากประวัติที่ชาวชุมชนได้พยายามสืบค้นมาพบว่า บ้านหลังนี้เจ้าของคนแรกคือหมื่นศักดิ์แสนยากร ลักษณะโดยรวมเป็นบ้านทรงไทยหลังคาทรงสูง และยกใต้ถุนสูงในแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมแบบภาคกลางที่พบมากในอดีต ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หน้าจั่วทำเป็นแบบที่เรียกว่า “จั่วใบปรือ” ฝาเป็นฝาลูกฟักทั้งหมด และจากการสำรวจโดยรอบอาคารก็พบว่าเรือนไทยหลังนี้เป็นเรือนไทยที่มีสัดส่วนสวยงามหลังหนึ่ง ถึงแม้สภาพปัจจุบันจะทรุดโทรม แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษาตลอดจนมีการปรับปรุงและอนุรักษ์ที่ดีเพียงพอ เรือนหลังนี้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างของเรือนไทยที่งดงามหลังหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งภาพของเรือนไทยลักษณะเช่นนี้และภายใต้บรรยากาศที่มีชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเรือนไทยี่ตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์นั้นจะเห็นได้ก็เฉพาะในภาพเก่า ๆ ที่ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เพียงเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องออกไปดูในต่างจังหวัดซึ่งยังพอมีเหลืออยู่บ้าง อีกหลังหนึ่งคือบ้านเลขที่ 123 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนอย่างดีของบ้านเรือนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 6 บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นหลังคาทรงจั่ว มุมหลังคาไม่สูงชันเท่าเรือนทรงไทยแบบหลังแรก ชายคาก็ไม่ยื่นออกมายาวมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกตลอดจนรายละเอียดบางส่วน ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นบ้านที่ปลูกขึ้นในแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5
หมายเหตุ
ชูศรี สาธร. “ป้อมมหากาฬ.” นิตยสารศิลปากร ปีที่ 3 , ฉบับที่ 3 (ก.ย. 2502)
ชาตรี ประกิตนนทการ. “ป้อมมหากาฬ : "อนุรักษ์" หรือ "ทำลาย" ประวัติศาสตร์ ? .” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 , ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2546)