ชุมชนตรอกบวรรังษี

ที่ตั้ง
ชุมชนตรอกบวรรังษี ตั้งอยู่ในแขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับวัดบวรนิเวศ
ทิศใต้ ติดกับชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน
ทิศตะวันออก ติดกับถนนดินสอ
ทิศตะวันตก ติดกับถนนตะนาว

 ประวัติ
ชุมชนตรอกบวรรังษีเป็นชุมชนที่มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ มีอายุของชุมชนประมาณ 100 กว่าปี เริ่มให้เช่ามาประมาณ 60 ปี เจ้าของที่ดินคือวัดบวรนิเวศ โดยคิดค่าเช่า 3 บาทต่อเดือนต่อตารางวา โดยทำสัญญาระบุเป็นรายปี ประชาชนเช่าที่ดินปลูกบ้านประมาณ 92 หลัง นอกจากนั้นเป็นบ้านปลูกให้เช่า ส่วนปัญหาการไล่รื้อนั้นไม่มี แต่ชาวบ้านได้ทำสัญญาให้ความยินยอมในการรื้อย้ายออกไป เมื่อทางวัดมีความจำเป็นในการใช้ที่โดยระบุไว้ท้ายสัญญาเช่า

ในอดีตคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในย่านนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2526 ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็กระจัดกระจายกันไปอยู่ที่อื่น ส่วนมากจะย้ายไปแถบตลิ่งชันเพราะรัฐให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย และในขณะเดียวกันชาวบ้านบางส่วนก็สร้างซ่อมแซมบ้านขึ้นใหม่โดยเช่าที่ดินของวัดบวรนิเวศ เมื่อบ้านเสร็จก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ชุมชนนี้เหมือนเดิม ปัจจุบันชาวบ้านยังคงเช่าที่ดินจากวัดบวรนิเวศอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะทำเป็นบ้านให้เช่าอีกต่อหนึ่ง กล่าวคือมีคนในชุมชนที่อยู่มาก่อนทำสัญญาเช่าที่ดินจากวัดเป็นรายเดือนเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัย แล้วต่อมาก็ให้คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่เช่าบ้านเป็นรายเดือน ประมาณเดือนละ 800-1500 บาทตามขนาดห้อง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนบวรรังษีกันมาก เพราะใกล้กับบางลำพู ตรอกข้าวสาร ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายได้สะดวก โดยส่วนมากจะเป็นคนที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สภาพทั่วไปของชุมชนบวรรังษีมีลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น มีทางเดินเท้าหลักกว้างประมาณ 2 เมต รอยู่ในสภาพที่ดีและมีทางเดินเท้าแยกเข้าซอยเล็กกว้างประมาณ 1 เมตร ในขณะนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงบ้านให้เป็นเกสต์เฮาส์มากขึ้น เพราะด้านหนึ่งของชุมชนบวรรังษีตั้งอยู่ตรงข้ามกับตรอกข้าวสาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ จึงจะทำเป็นเกสต์เฮาส์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

การเข้าไปยังชุมชนบวรรังษีสามารถทำได้ 3 ทาง คือ ทางด้านหน้าถนนราชดำเนิน บริเวณศึกษาภัณฑ์สาขาใหญ่ เดินผ่านเข้าทางชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินมาจนสุดทาง จะพบทางแยกเลี้ยงซ้ายก็จะเป็นชุมชนบวรรังษี ส่วนทางที่สองคือ เดินตรงมาจากชุมชนดินสอ เมื่อสุดชุมชนดินสอก็จะเป็นชุมชนบวรรังษี และทางที่สามคือ เข้าทางบางลำพู ใกล้กับวัดบวรนิเวศก็จะพบชุมชนบวรรังษีอยู่ทางซ้ายมือ สายรถประจำทางที่ผ่านคือ 56, 68, 516

โครงสร้างทางประชากร ชุมชนบวรรังษีมีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 270 ครัวเรือน มีประชากร 847 คน ซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับมากที่สุด รองลงมาคือชั้นมัธยมศึกษา และจบการศึกษาขั้นอุดมศึกษาน้อยที่สุด
                                                                   
การประกอบอาชีพ

ชุมชนตรอกบวรรังษีลุงและ เล่าว่า “ สมัยก่อนคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพตีทองคำเปลว แต่เมื่อไฟไหม้ใหญ่ทำให้ช่างทองมีการอพยพไปอยู่ที่อื่นกันมาก ที่กลับมาอยู่ที่ชุมชนบวรรังษีน้อยนัก ปัจจุบันมีอยู่ 2 บ้านที่ยังทำอยู่คือ บ้านป้าแจ่ม และบ้านพี่น้องของป้าแจ่ม สาเหตุที่เหลือช่างทำทองเพียง 2 บ้านนั้น เนื่องจากรุ่นลูกหลานไม่สืบต่อ เพราะตีทองเป็นงานที่เหนื่อยมาก เขาไปทำอย่างอื่นสบายกว่ากันมาก”

ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนที่ย้ายเข้ามาเช่าบ้านในชุมชน รองลงมาคือประกอบอาชีพส่วนตัว และมีส่วนน้อยที่เป็นข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ

คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีวัฒนธรรมคือการที่ประชาชนในชุมชนร่วมใจกันจัดงานในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ วันสงกรานต์ และงานสำคัญทางพระพุทธศาสนา


หมายเหตุ
สัมภาษณ์คุณลุงและ  เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com