วังบ้านหม้อ
ที่ตั้ง
บ้านเลขที่ 128 ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ตั้งของวังบ้านหม้อเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวมอญประกอบอาชียขายหม้อดินเผา จึงเป็นที่มาของชื่อ "ตำบลบ้านหม้อ" และเมื่อมีการสร้างวังขึ้นในบริเวณนี้จึงเรียกชื่อวังตามชื่อตำบลด้วย วังบ้านหม้อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษ์เทเวศน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 22 ของพระองค์กับเจ้าจอมมารดาศิลา ประสูติเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2341 ทรงเป็นต้นราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชทานวังท้ายหับเผยวังที่ 3 ให้เป็นที่ประทับ ทั้งนี้เพราะบริเวณนี้มีวังเรียงกัน 3 วัง ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงพระราชทานแก่พระราชโอรสร่วมเจ้าจอมมารดาองค์เดียวกัน องค์ละวังได้แก่ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธ์ และกรมพระพิทักษ์เทเวศ จากนั้นต่อมาเกิดไฟไหม้ที่วังกรมหมื่นสุนทรธิบดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวังท้ายหับเผยวังที่ 1 ไฟไหม้ไปตลอดจนถึงบริเวณบ้านหม้อกลายเป็นที่ว่าง กรมพระพิทักษ์เทเวศน์จึงทรงย้ายวังมาสร้างในบริเวณที่ว่างนี้ ต่อมาเป็นทีรู้จักกันในชื่อ "วังบ้านหม้อ" จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบรมวงศ์เธอพระองค์สิงหนาทราชดุรงค์คาฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงดูแลวังบ้านหม้อสืบมาทรงกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 จากนั้นเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นบุตรของพระองค์เจ้าสิงหนารถฯ ได้อยู่สืบมาจนถึงอนิจกรรม วังบ้านหม้อจึงอยู่ในความควบคุมดูแลของพระยาศรีกฤษดากรได้เลื่อนยศเป็นพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ ปัจจุบันวังบ้านหม้อแห่งนี้ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ม.ล.แฉล้ม กุญชร ธิดาคนที่ 27 ของเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์สืบต่อมาจนทุกวันนี้
สถาปัตยกรรมที่สำคัญ
เป็นวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง นอกเหนือไปจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล จุดเด่นของวังบ้านหม้อที่ปรากฏอยู่จนถึงเวลานี้ที่สำคัญ ได้แก่
ท้องพระโรง
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นรูปแบบของท้องพระโรงแบบวังเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่หาดูได้ยากยิ่ง ลักษณะของท้องพระโรงเป็นเรือนไทยขนาด 5 ห้อง ไม้ฝาปะกน ทรงไทย หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด หน้าบันกรุไม้เป็นลูกฟักหน้าพรหม มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา และนาคสะดุ้ง หางหงส์ทาด้วยสีดินแดง มีหน้ากระดานคอสองคั่นระหว่างหลังคากับลาดหลังคา ท้องพระโรงยกพื้นสูง ใต้ถุนก่อปูนทึบ มีการเจาะช่องลมรูปรีตามแนวดิ่ง ด้านสกัดของท้องพระโรงด้านที่หันออกถนนอัษฎางค์มีเกยหินอ่อน เพราะท่านเจ้าของวังเคยว่ากรมช้างกรมม้า ด้านหน้าท้องพระโรงหันสู่ทิศเหนือ มีเฉลียงประกอบด้วยราวลูกกรงยาวตลอด ท้องพระโรงมีประตูหน้าต่างแต่งไม้สลักลาย กรอบหน้าต่างแต่งกรอบใน ตัดมุมมนน้อยๆ กรอบนอกหักมุมฉาก สลักกรอบเป็นร่องยาว กรอบล่างสลักไม้ฉลุเป็นลวดลายเถาดอกพุดตาน นับเป็นส่วนงามเด่นของฝาด้านนอก
ภายในท้องพระโรงเป็นโถงยาว เฉพาะตอนในกั้นเป็นห้องในสำหรับพักก่อนออกท้องพระโรง ขอบฝาห้องตอนล่างแต่งไม้สลักลาย บานประตูสู่ห้องในและบานประตูใหญ่สู่เฉลียงหลัง เขียนสีรูปม่านสองไขมีพวงมาลัยห้อย กรอบบนสลักลายเถาพุดตานปิดทองล่องชาด กรอบประตูสลักเป็นรูปเกลียวเชือกชั้นหนึ่งและแกะสลักลายอีกชั้นหนึ่ง กรอบล่างของประตูหน้าต่างด้านในนั้นสลักลวดลายของเถาไม้ดอกเช่นกัน ภายในท้องพระโรงเป็นที่ตั้งที่บูชา พระเสลี่ยง ตั่ง ของเดิมล้วนสร้างด้วยไม้สลักลายปิดทองประดับกระจก ผนังด้านที่กั้นผนังท้องพระโรงกับเฉลียงหลังนั้นติดรูปเจ้าของวังตั้งแต่พระองค์แรกจนถึงพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ห้องในเก็บพระอัฐิของบรรพบุรุษของราชสกุลกุญชรตั้งแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์เป็นต้นมา ทางเข้า-ออกท้องพระโรงยกเป็นแท่นก่ออิฐ พร้อมด้วยบันได ประตู หน้าต่างใช่เป็นลักษณะบานไม้แผ่นเดียวใช้เดือยเป็นบานพับ กรอบหน้าต่างประดับด้วยหย่องไม้จำหลักลาย ภายในท้องพระโรงมีฝ้าและฝาเป็นไม้ทาสีนวล ส่วนหนึ่งทางทิศตะวันออกกั้นฝาด้วยไม้ ประตูทางเข้ามีกรอบจำหลักลวดลายปิดทอง เป็นลักษณะของศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ในอดีตเจ้าของวังใช้ท้องพระโรงออกบัญชาข้อราชการและใช้เป็นที่ซ้อมละคร ปัจจุบันปิดรักษาไว้ ใช้อยู่อาศัยเฉพาะบริเวณเฉลียงด้านหลังเท่านั้น
ศาลาหน้าท้องพระโรง
ตั้งอยู่เยื้องมาทางถนนอัษฎางค์เป็นศาลาไทย หลังคามุงกระเบื้องไทย ประกอบด้วยหน้ากระดานคอสองค่อนข้างสูง เชิงชายหลังคาและลาดหลังคาประดับด้วยไม้ฉลุลาย เคยใช้เป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและแขกบ้านแขกเมืองเมื่อมาชมการแสดงละครดึกดำบรรพ์ โขน ละคร และดนตรีไทย ที่เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์จัดถวาย
เก๋งด้านหลังท้องพระโรง
ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงหลังเดียว โดยถูกรื้อลงไปหลังหนึ่งเพราะชำรุดผุพังเกินกว่าที่จะปฏิสังขรณ์ได้ มีลักษณะเป็นตึกยาว ใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องแบบจีน ผนังแต่งเสาอิงทรงสี่เหลี่ยม มีหัวเสาสี่เหลี่ยมแบบเรียบ ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
บรรณานุกรม
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม (2545-2547). 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.
ประมวลภาพวังและตำหนัก. กรุงเทพฯ : บริษัท ไตร-สตาร์ พับลิชชิ่ง,2538.
สำนักวัฒนธรรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมาหนคร. บางกอกเล่า (เรื่อง) วัง. กรุงเทพฯ : สำนัก. 2555.