บ้านพระอาทิตย์

ที่ตั้ง 
102/1 ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ประวัติ
เดิมบ้านพระอาทิตย์เป็นวังของพระองค์เจ้าอิศเรศ เสนาบดีฝ่ายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 4 ดำรงตำแหน่งเป็นกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช หลังจากที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ก็ได้เปลี่ยนชื่อเรียกวังนี้ว่า “บ้านถนนพระอาทิตย์” ต่อมาในภายหลังจึงเรียกกันว่า “บ้านพระอาทิตย์” ซึ่งได้สืบทอดมาถึงทายาทของท่านคือพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เป็นผู้มีฝีมือด้านการช่างได้รับราชการมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังในปี พ.ศ.2470 ท่านได้สร้างบ้านใหม่ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งคือบ้านพระอาทิตย์ในทุกวันนี้ หลังจากที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมทายาทได้ให้สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (เกอเธ่) เช่าบ้านในช่วง ปี พ.ศ. 2505-2530 ต่อมาจึงได้ขายให้เอกชนซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
เป็นสถาปัตยกรรมแนวอาร์ตส์แอนด์คราฟท์ส (Arts and Crafts Movement) คือแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นอาคาร 2ชั้น ทางปีกขวาเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น หลังคาหอคอยทรงปิรามิด ตกแต่งอาคารด้วยปูนปั้นและไม้แกะสลัก โดยภาพรวมมีความสง่างามค่อนข้างเรียบง่ายไม่หรูหราแพรวพราว ซึ่งอาจเป็นด้วยก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เริ่มมีบทบาทในประเทศไทย ตัวอาคารมีการปรับปรุงภายในเป็นสำนักงานหนังสือพิมพผู้จัดการ เมื่อ พ.ศ. 2537 และมีการก่อสร้างอาคารใหม่ในบริเวณขึ้นอีก 3 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีความกลมกลืนกับอาคารเดิมและมีทางเดินเชื่อมต่อกัน

    

banpra-athit2  banpra-athit1  banpra-athit3

บรรณานุกรม
174 มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com