ตึกแถวริมถนนอัษฎางค์

ที่ตั้ง
ถนนอัฎษางค์ ตั้งแต่มุมถนนพระพิทักษ์ ถึงซอยกลาง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
อาคารตึกแถวถนนอัษฎางค์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยลักษณะการก่อสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันกับอาคารในสมัยนั้น ตึกแถวนี้หันหลังให้กับตึกแถวถนนบ้านหม้อซึ่งก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่เดิมนั้นถนนอัษฎางค์ บ้านหม้อ และพาหุรัด เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ เช่น ตรงเชิงสะพานอุบลรัตน์ตึกตรงมุมถนนเคยเป็นห้างบาโรบราวน์ขายรถยนต์มาก่อน หรือบริเวณหัวมุมถนนจักรเพชรเชิงสะพานเจริญรัชเป็นห้างสามเหลี่ยม จำหน่ายเครื่องเรือยนต์ เครื่องยนต์ฉุดระหัด และเครื่องยนต์ต่าง ๆ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ปากคลองตลาด ที่พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาจากทางเรือ จำต้องพึ่งเครื่องยนต์และอะไหล่เหล่านี้ แต่ในปัจจุบันตึกแถวถนนอัษฎางค์ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งขายเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องเสียง และบริษัทขนส่งสินค้า

สถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องว่าว ชั้นล่างของอาคารมีการใช้สอยในการค้าขายจึงมีลักษณะเปิดโล่ง แบบห้องแถวทั่ว ๆ ไป ชั้นบนใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบานหน้าต่างแบบลูกฟักกระดานดุนใช้บานพับ ใช้ปูนปั้นประดับขอบหน้าต่าง ปั้นปูนเป็นเส้นนูน 2 เส้น คู่เป็นกรอบขอบหน้าต่าง เส้นขอบปูนปั้นที่ต่อขึ้นไปถึงขอบบนของหน้าต่าง ปูนปั้นเป็นวงโค้ง การประดับด้วยปูนปั้นในกรอบหน้าต่างนี้เหมือนกันทุกช่องตลอดแนวของอาคาร

 

 
ส่วนที่มีการประดับตกแต่งที่พิเศษต่างไปจากแบบเดียวกันเฉพาะที่เป็นอาคารห้องเริ่มต้นหรือห้องแรก ของตัวตึกแต่ละช่วง คือจะทำให้เป็นกระบังหน้า ของอาคารในชั้นที่ 2 เป็นรูปซุ้มประตูโค้งขนาบด้วยลายก้นหอย 2 ข้างเสา ประตูซุ้ม ภายในซุ้มจะเป็นรูปปั้นปูนรูปแจกัน ผนังของอาคารฉาบปูนเซาะร่องเลียนแบบการก่อหิน

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com