พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ที่ตั้ง
บริเวณลานพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอดุลยเดชวิมลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าอานันทมหิดล ในสมัยรัชกาลที่ 7 สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งมีฐานเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระเชษฐาในรัชกาลที่ 7 ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากวงการการแพทย์แผนไทยว่า ทรงเป็น “ พระบิดาแห่งวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เวลา 1.00 นาฬิกา ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาในภายหลัง และมีสมเด็จพระราชอนุชาพระองค์หนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชสมภพ ณ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับยังต่างประเทศจนพระชนมายุ 3 พรรษา จึงได้เสด็จกลับ ประเทศไทยประทับ ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร และเมื่อทรงพระชนมายุ 4 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกก็เสด็จทิวงคต การอบรมอภิบาลจึงอยู่ในพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่เพียงพระองค์เดียว
เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีแล้วจึงทรงย้ายไปเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สภาพบ้านเมืองในระหว่างนี้มีความผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คณะราษฎร์ก่อการปฏิวัติเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะส่งพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ไปศึกษาต่อยังประเทศที่เหมาะสม ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงมีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงมาตลอด จึงทรงไปเพื่อเป็นการรักษาพระพลานามัยของพระนัดดาด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเลือกเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสถานที่ประทับ
ความเป็นอยู่ของพระองค์เป็นไปอย่างธรรมดาเรียบง่ายท่ามกลางความสุข ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับรักษาพระเนตรที่อังกฤษ และได้ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ด้วยการสืบราชสมบัติตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันติราชวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 8 พรรษา 5 เดือน 13 วัน
เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เมื่อทรงมีพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งแรกหลังจากเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ได้เสด็จพร้อมด้วยพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระอนุชาโดยเรือมีโอเนีย เรือถึงเมืองปีนังในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เวลาสองยาม วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เสตท เอโค ลงพิมพ์กระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า และในอันที่จะได้เห็นบรรดาประชาราษฎรของข้าพเจ้าเอง” ผู้แทนรัฐบาลไทยจากกรุงเทพฯ กงสุลไทย เจ้าเมืองปีนัง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไทยเก่าแก่ที่อยู่ที่ปีนังได้ไปเฝ้าในเรือ
เมื่อเรือมีโอเนียออกจากปีนังเข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากเรือมีโอเนียประทับเรือหลวงศรีอยุธยาเรือพระที่นั่ง แล่นข้ามสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล คณะทูตานุทูต ข้าราชการและพลเรือน ตลอดจนประชาชนมารอรับเสด็จ ณ ท่าราชวรดิษฐ์ อย่างเนืองแน่น ต่างพากันชื่นชมโสมนัสเมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์น้อยทรงงามพร้อมไปทุกสิ่ง ทั้งพระรูปโฉม พระวาจา พระอิริยาบถ บางคนถึงกับปีติยินดีจนน้ำตาไหลเมื่อได้เห็นธงมหาราชอันสง่างามปลิวไสวอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากประเทศไทยไปเมื่อ พ.ศ. 2477
ระหว่างที่ประทับอยู่ในพระนคร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย อาทิ เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล ที่จังหวัดลพบุรี เสด็จพระราชทานธงประจำกองแก่ยุวชนทหารที่ท้องสนามหลวง เสด็จงานสมคานักเรียนเก่าอังกฤษ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ เสด็จเยี่ยมพระบรมวงศ์ชั้นสูง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดสำคัญๆ อาทิ วัดพระเชตุพน วัดเบญจมบพิตร วัดสระเกศ วัดอรุณราชวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศ วัดสุทัศน์ และวัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น ทรงเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2482 ระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่ประทับอยู่ในประเทศไทยได้ทรงผูกพันจิตใจของประชาชนคนไทยไว้อย่างมั่นคงและแน่นแฟ้น
เสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งที่สอง
ช่วงเวลาก่อนนั้นสถานการณ์ของโลกเข้าสู่วิกฤติจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การติดต่อระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศไม่สะดวกเพราะภัยสงคราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาตลอดระยะเวลาสงครามเป็นเวลานานเกือบ 8 ปี ระหว่างนั้นประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ ความไม่ราบรื่นทางการเมืองภายในประเทศ การเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา และการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เป็นต้น เมื่อสงครามสงบลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพของผู้แพ้สงครามและกำลังแก้ไขไม่ให้ตกอยู่ในสภาพนั้น เนื่องจากผู้นำของประเทศในช่วงสงครามได้มีนโยบายเข้าข้างประเทศญี่ปุ่น แต่ “ขบวนการเสรีไทย” ก็ได้ช่วยทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายผู้แพ้สงคราม เนื่องจากได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านประเทศญี่ปุ่น ในด้านเศรษฐกิจ เมืองไทยตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภค เงินเฟ้อ สินค้าแพง คมนาคมไม่สะดวก ขวัญและกำลังใจของประชาชนจึงอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ช่วงเวลานี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาได้เสด็จนิวัติประเทศไทยในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 การเสด็จในครั้งนี้ทำให้ขวัญและกำลังของประชาชนชาวไทยเพิ่มขึ้นมากมาย
พระองค์เสด็จถึงสนามบินดอนเมืองซึ่งเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ไปรอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์สักหลาดสีเทาก้าวพระบาทจากบันไดเครื่องบินลงเหยียบผืนแผ่นดินไทยพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา ดวงใจทุกดวง ณ ที่นั้นเต็มตื้นและชื่นชม มีความจงรักภักดีเปี่ยมล้นเมื่อได้เห็นว่า พระองค์มิใช่พระมหากษัตริย์องค์น้อยดังที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน แต่เป็นพระมหากษัตริย์หนุ่มที่สง่างามทั้งพระรูปโฉมเป็นที่เจริญตา พระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณปรากฏชัดในแววพระเนตรและสีพระพักตร์ ทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากดอนเมืองโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจนถึงสถานีหลวงสวนจิตรลดาและเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งจนถึง พระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น นับจากวันนั้น คนไทยมีเรื่องกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนมิเว้นแต่ละวัน การไปเฝ้ารับเสด็จตามที่ต่างๆ ที่ทราบว่าจะเสด็จพระราชดำเนิน เป็นความสุขอย่างยิ่ง
ระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชพิธีทางศาสนา บำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชบุรพการี เสด็จทรงสถาปนาสมณศักดิ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จไปย่านสำเพ็งเพื่อระงับกรณีพิพาทระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่อยู่ในย่านสำเพ็ง
เสด็จในงานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังทรงเสด็จเยี่ยมสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่น วัดสำคัญในพระนครและต่างจังหวัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชวังโบราณอยุธยา พระราชวังบางปะอิน กรมอู่ทหารเรือ เสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง โดยที่พระราชกรณียกิจสุดท้ายคือ ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไว้แก่แผ่นดิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวเกษตรบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ตามหมายกำหนดการ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทรงทำปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่ยังทรงทำค้างอยู่ให้เสร็จ ก่อนกำหนดเสด็จกลับไม่กี่วัน ทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่เป็นปรกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง จึงต้องทรงประทับอยู่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจึงวิ่งเข้าไปดูเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ สวรรคตเสียแล้ว
ข่าวที่ว่า “ ในหลวงสวรรคต” สะเทือนใจคนไทยทั้งแผ่นดินยังความเศร้าโศกเสียใจไปทั่วประเทศ มีการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับและอยู่ในความสนใจของหลายประเทศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ท่ามกลางพสกนิกรที่จงรักภักดีและเทิดทูนบูชาอย่างเนืองแน่นมืดฟ้ามัวดิน และวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาประดิษฐานในผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ประดุจดังพระราชดำรัสที่เคยกล่าวไว้ว่า “ (วัดสุทัศน์) ที่นี่เงียบสงบน่าอยู่จริง”
กระบวนเชิญพระโกศพระบรมศพโดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดเชตุพนฯ (29 มีนาคม 2493) |
พระโกศพระบรมศพประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ แห่เชิญจากหน้าวัดพระเชตุพนฯไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง (29 มีนาคม 2493) |
ริ้วกระบวนเชิญพระโกศพระบรมศพจากหน้า
|
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช |
ลักษณะทางศิลปกรรมที่สำคัญ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และคำจารึกด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์ตั้ง ณ บริเวณลานประทักษิณชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม พระบรมรูปหล่อด้วยสำริดขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืนบนแท่นหินอ่อนยกพื้นสูง มีแผ่นทองเหลืองจารึกเกี่ยวกับกำหนดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เบื้องหลังเป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้ง ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ "อปร" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.