วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่ตั้ง

ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพ

อาณาเขต

ตั้งอยู่มุมพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก ในเขตพระราชฐานชั้นนอก มีเขตวิสุงคามสีมาเป็นเอกเทศ ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม

ประวัติ

   “พระศรีรัตนศาสดาราม” แปลว่า “วัดที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าที่สร้างด้วยแก้วมรกตอันเป็นศรีของบ้านเมือง” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดพระแก้ว”

   ตามราชประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในพระราชฐานนั้น เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีวัดมหาธาตุอยู่ในบริเวณพระราชวัง เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีวัดพระศรีสรรเพชญอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2325 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นพระอารามในเขตพระราชฐาน และเป็นวัดที่ตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตที่ทรงได้จากกรุงเวียงจันทร์ ประเทศลาว

   เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่จากวัดอรุณราชวราราม ฝั่งกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2327 และพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร”

   เนื่องจากเป็นวัดที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะ จึงทำให้วัดแห่งนี้มีแต่เขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาส แต่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับบรรพชาและอุปสมบทนาคหลวง และเป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

พระอุโบสถ

   รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ผนังด้านนอกเป็นลายรดน้ำ พื้นชาดแดงเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ซุ้มพระบัญชรพระทวารเป็นซุ้มทรงมณฑป ผนังด้านในเขียนเทพชุมนุม ปฐมสมโพธิ มารวิชัย ไตรภูมิ

   ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนเครื่องบน และแก้ลายผนังด้านนอกเป็นลายรูปปูนปั้นนูนประดับกระจก ผนังด้านในเขียนใหม่ (ยกเว้นภาพมารวิชัย) เขียน “ปฐมสมโพธิ” มีการเสริมเบญจาบุษบกพระแก้วมรกตให้สูงขึ้น สร้าง “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”

   ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงซ่อมเครื่องบน เขียนภาพผนังใหม่ (ยกเว้นภาพมารวิชัย) หล่อแผ่นอิทองเหลืองเรียบ พื้นภายในแทนเสื่อทองเหลืองที่เคยปู และในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการซ่อมภาพเขียนภายในพระอุโบสถ ในคราวเตรียมการฉลองพระนครอายุครบ 150 ปี

   รูปแบบของพระอุโบสถ เป็นอาคารแบบประเพณีนิยม มีหลังคาซ้อนชั้นหลังคาเป็นเครื่องลำยอง ประกอบด้วย ป้านลมที่เป็นนาคลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ โดยรวมเหมือนอาคารแบบประเพณีนิยมที่สืบทองมาจากกรุงศรีอยุธยา

   งานศิลปกรรม (งานประดับตกแต่ง)

     - ฐานอาคารที่เรียกว่า เชิงบาตรหรือเอวขันธ์ ประดับด้วยครุฑเป็นครุฑยุดนาคเรียงล้อมรอบฐาน การประดับแนวครุฑนี้โดยทั่วไปจะพบอยู่ในงานประดับเจดีย์ ส่วนที่เป็นงานประดับฐานอาคาร พบเฉพาะที่เป็นปราสาทที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเขมร คือ อาคารที่มีครุฑแบกเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสวรรค์ หรือตีความว่า ผู้ที่อยู่ในอาคารนั้นเป็นเชื้อสายของพระนารายณ์

     - ประติมากรรมสิงห์สำริด บนลานประทักษิณ ลักษณะของสิงห์เป็นแบบเขมร โดยคติของการประดับฐานสิงห์ส่วนใหญ่ พบในสมัยอยุธยาตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร ส่วนคติของการประดับสิงห์หรือช้างล้อม มีแนวความคิดเรื่องศูนย์กลางของจักรวาล คือการแสดงสัญลักษณ์ของสวรรค์ และใช้ในความหมายทางพระพุทธศาสนา คือ สิงห์หรือช้างเป็นสัตว์ที่ค้ำจุนจักรวาลหรือค้ำจุนพระพุทธศาสนา

     - ผนังพระอุโบสถ ด้านนอกเป็นลวดลายประดับนูน ดอกทำด้วยดินเผาปิดทองประดับกระจกสีเหลือง เป็นลายกระหนกก้านแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์

ศาลารายรอบพระอุโบสถ

   จากสาส์นสมเด็จ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อถึงเทศกาลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเด็กที่โรงทานมาสวดโอ้อวดวิหารราย ต่อมามีการยกเลิกโรงเรียนที่โรงทานขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งให้โรงเรียนชั้นประถมศึกษามาสวดโอ้อวดวิหารรายแทน แต่ประเพณีนี้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 6

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

   พุทธลักษณะขององค์พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิเพชร พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นตุ่มคล้ายดอกบัวตูม พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางสลักขอบทั้งสองเส้น พระหนุเป็นปม ชายสังฆาฏิยาว ฐานรองรับเป็นฐานเขียง มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก ขนาดองค์พระหน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงแต่ฐานเฉพาะทับเกษตรถึงพระเมาลี

   เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระราชทานนามพระนครใหม่ ให้ต้องกับการมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” มีความหมายว่า “เป็นที่เก็บรักษาขององค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” และในวันที่ 7 มีนาคม 2327 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากพระราชวังกรุงธนบุรี อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถของพระอาราม และพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

พระศรีรัตนเจดีย์

   อยู่ทางด้านตะวันตกของพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยสร้างพระเจดีย์ถ่ายแบบมาจากเจดีย์สามองค์ ณ วัดพระศรีสรรเพชญอยุธยา มาสร้างเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบทรงลังกา และถวายพระนามว่า “พระศรีรัตนเจดีย์” ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และได้ประดับกระเบื้องสีทองในสมัยรัชกาลที่ 5

รูปนครวัดจำลอง

   อยู่ทางด้านเหนือพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบจากนครวัด เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพราะในขณะนั้นประเทศกัมพูชายังเป็นประเทศราชขึ้นต่อประเทศไทย และสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฉลองกรุงเทพพระมหานครฯ ครบ 100 ปี

หอพระนาก

   รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเพื่อประดิษฐาน “พระนาก” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยนากทั้งองค์ หอพระนากใช้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านายที่เป็นชาย ตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไปตามอย่างกรุงศรีอยุธยาที่นำพระอัฐิเจ้านายไปรักษาไว้ในห้องท้ายจรนำ พระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อรอโอกาสบรรจุในพระสถูป หอพระนากในปัจจุบันสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้พอกับจำนวนพระอัฐิเจ้านายที่เพิ่มขึ้น

หอพระมณเฑียรธรรม

   สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นหอไตรกลางสระน้ำอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ ต่อมาถูกเพลิงไหม้ จึงสร้างขึ้นใหม่โดยย้ายมาอยู่มุมระเบียงคดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยฝีมือช่างวังหน้าและช่างวังหลวง

   ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบรัตนโกสินทร์ยุคต้น ต่อเนื่องกับศิลปะอยุธยา หลังคาซ้อนสี่ชั้นลดสองชั้น เมื่อแรกสร้างใช้เป็นที่สำหรับราชบัณฑิตบอกหนังสือพระภิกษุสามเณร ปัจจุบันเป็นหอไตรสำหรับเก็บพระไตรปิฎก

หอพระคันธารราษฎร์และพระมณฑปยอดปรางค์

   หอพระคันธารราษฎร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นหอยอดปรางค์สำหรับประดิษฐานองค์พระคันธารราษฎร์ ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระพุทธรูปสำหรับพระราชพิธีแรกนาขวัญและพิธีพิรุณศาสตร์

   ส่วนพระมณฑปยอดปรางค์ รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐ์เจดีย์ที่ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือ และพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ที่ทรงนำมาจากกรุงสุโขทัย

พระมณฑป

   ตั้งอยู่ระหว่างปราสาทพระเทพบิดรและพระศรีรัตนเจดีย์ เดิมสร้างเป็นหอมณเฑียรธรรม อยู่กลางสระแต่ถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยถามสระเดิม และสร้างฐานไพทีให้สูงเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนา และพระมณฑปนี้ได้รับการซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนเครื่องบน ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจกสีเหลือง

หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสร

   หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ โดยหอพระราชกรมานุสรณ์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ และ หอพระราชพงศานุสรอยู่ด้านทิศใต้

   หอพระราชกรมานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้จารึกพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระนามละองค์ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองจนถึงพระเจ้าเอกทัศ ประดิษฐานไว้ในหอนี้ ภายในเขียนภาพพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนโดย “ขรัวอินโข่ง” ช่างฝีมือเขียนภาพผนังชั้นเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นคนแรกที่นำเอาวิธีการเขียนแบบเปอร์สเปคตีฟมาใช้

   หอพระราชพงศานุสร สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทรงอุทิศแก่กษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ภายในเขียนภาพพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์

   ข้อสังเกต หน้าบันของหอทั้งสองนี้ประดับตราพระลัญจกรของ 4 รัชกาล คือ

   - หน้าบันหอพระราชกรมานุสร

     ด้านทิศเหนือ เป็นรูปอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1

     ด้านทิศใต้ เป็นรูปครุฑยุดนาค พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 2

   - หน้าบันหอพระราชพงศานุสร

     ด้านทิศเหนือ เป็นรูปพระวิมาน พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 3

     ด้านทิศใต้ เป็นรูปพระมหามงกุฎ พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 4

ปราสาทพระเทพบิดร

    สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปีพุทธศักราช 2398 ทรงสร้างเป็นปราสาทยอดปรางค์ เดิมตั้งพระทัยว่าจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เพราะอยู่ในระดับสูงกว่าพระอุโบสถเดิม จึงพระรทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 และในปีพุทธศักราช 2446 เกิดไฟช็อต ไหม้หลังคา ทำให้ต้องสร้างเครื่องบนใหม่ทั้งหมด

   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ บูรณะและตกแต่งภายใน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของอดีตกษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี พระราชทานนามว่า “ปราสาทพระเทพบิดร”

   ปราสาทพระเทพบิดร เป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ที่มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน โดยนำเอาแบบอย่างของปรางค์มาไว้เป็นส่วนยอด ที่ผนังของปราสาทก่ออิฐฉาบปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บันไดด้านตะวันออกเป็นรูปหล่ออัปสรสีห์ 2 ตน หลังคาเป็นแบบจัตุรมุขลด 4 ชั้น ยอดนพศูล เป็นรูปพระมหามงกุฎโลหะปิดทอง

   ปัจจุบันปราสาทพระเทพบิดร เปิดให้สักการะเฉพาะวันสำคัญของชาติ คือ วันจักรี วันฉัตรมงคล วันสงกรานต์ วันปิยมหาราช และวันเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลปัจจุบัน

หอระฆัง

   สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในแขวนระฆังที่นำมาจากวัดสระเกศ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้สร้างขึ้นใหม่ และมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยการลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก ส่วนล่างประดับกระเบื้องเคลือบสี

   รูปแบบของหอระฆังมีฐานยกเป็นแท่นสูง ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมย่อมุม ตัวหอระฆังเป็นทรงมณฑปยอดปราสาท ประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 2 ฐานที่สลับด้วยชั้นเอวขันธ์ ตัวเรือนที่แขวนระฆังประกอบด้วยเสารองรับส่วนยอด ไม่มีผนัง ส่วนยอดเป็นทรงปราสาทแบบยอดของปราสาทพระที่นั่งที่เป็นหลังคาซ้อนชั้นทรงกรวย

 

บรรณานุกรม

กรุงเทพมหานคร. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว. (2555). บางกอก บอกเล่า(เรื่อง)วัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะอักษรศาสตร์และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2517). วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว. (2518). นนทบุรี: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. (2534). ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์.

สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. (2550). พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร เล่ม 1. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.

อเนก นาวิกมูล. (2545). วัดในกรุงเทพฯ-ธนบุรี พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดดเพื่อนเด็ก.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com