ตึกแถวบริเวณซอยพระยาศรี

ที่ตั้ง 
ริมซอยพระยาศรีด้านทิศเหนือริมถนนเจริญกรุงติดกับถนนอัษฎางค์ และริมถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ตึกแถวซอยพระยาศรีมีลักษณะเป็นตึกแถวอยู่สี่แยกคือซอยพระยาศรีติดกับถนนเฟื่องนคร ดังนั้นบางที่จึงเรียกกันว่าสี่กั๊กพระยาศรี กั๊กมาจากภาษจีนแปลว่าแยกหรือแพร่ง ในสมัยนั้นนิยมเรียกแยกต่าง ๆ ว่า กั๊ก ตึกแถวสี่กั๊กพระยาศรีสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่าสี่กั๊กพระยาศรีคือนามของพระยาศรีสหเทพ (ทองแข็ง ศรีเพ็ญ) โดยราษฎรละแวกนั้นได้เอามาตั้งเป็นชื่อตำบลและถนน เพราะบ้านท่านอยู่ตรงสี่แยกพอดี พระยาศรีสหเทพผู้นี้รับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งนับว่าเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่นี้นานที่สุดในประเทศไทย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่ทำนุบำรุงบ้านเมือง จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ขยายถนนบำรุงเมืองในปี พ.ศ. 2413 และโปรดให้สร้างตึกแถวตั้งแต่ถนนบำรุงเมืองเรื่อยมาจนถนนเฟื่องนคร โดยให้อยู่ในความดูแลของพระคลังข้างที่ ปัจจุบันตึกแถวบริเวณนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพย์สินส่วนมหากษัตริย์ ตึกแถวบริเวณดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ ชาวต่างประเทศเข้ามาเปิดห้างการค้าหลายแห่ง เช่น แบดแมนแอนด์โก หรือห้าง มร.อันเดร ซึ่งเป็นห้างของชาวเยอรมัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ตึกแถวซอยพระยาศรีเป็นตึก 2 ชั้น ยกพื้นเล็กน้อย หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวมีขอบสันหลังคา มุมตึกแต่ละด้านประดับแผ่นปูนปั้นหรือกระบังหน้าอาคารกลางแผ่นปูนปั้นทำเป็นรูปงู 2 ตัวไขว้กัน มีกิ่งไม้อยู่ส่วนตรงกลาง  หน้าต่างบนชั้น 2 ส่วนมากเป็นบานกระจกของใหม่ บางส่วนเป็นบานไม้ลูกฟักกระดานดุน แต่ส่วนที่เป็นการตกแต่งแบบเดิมที่คงเหลืออยู่คือปูนปั้นเป็นรูปหน้าจั่วเหนือขอบบนหน้าต่าง และปูนปั้นเป็นเส้นขอบด้านข้างคล้ายกรอบหน้าต่าง หน้าต่างอีกแบบหนึ่งจะเป็นบานพับหูช้าง ช่องหน้าต่างแต่ละช่องจะมีกรอบโค้งเล็กน้อยแต่งด้วยลายปูนปั้น ส่วนบนแสดงการเลียนแบบการก่อหินโค้งตามแนวกรอบ บนยอดโค้งจะเป็น keystone ลักษณะเหล่านี้คล้ายกันกับอาคารแถวบริเวณซอยทหารบกทหารเรือ ด้านหลังโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมลูกฟักกระดานดุน กรอบส่วนหน้าเป็นวงโค้งเล็กน้อยซึ่งกั้นด้วยซี่เหล็กสั้น ๆ เป็นระยะตลอดความกว้างของประตู ผนังอาคารชั้นล่างเซาะร่องตามแนวนอนที่มุมตึกจะเป็นเสาหลอกติดผนัง หัวเสาปูนปั้นรูปใบไม้ม้วนรับกับแผ่นปูนปั้นที่หลังคา สิ่งที่พิเศษไปกว่าตึกแถวบริเวณอื่น ๆ คือ ห้องปลายของแถว หลังคาด้านสกัดจะมีมุขยื่นออกมาเป็นจั่วเล็ก ๆ ซึ่งตีไม้เป็นบานเกล็ดเพื่อระบายอากาศทั้งได้มีการตกแต่งอย่างน่าดู

 

                                   soiprayasri clip image002 0001       soiprayasri clip image002       soiprayasri clip image002 0000

อาคารที่กล่าวนี้เป็นหมู่ตึกแถวทางฟากตะวันตกติดกับถนนอัษฎางค์ ส่วนตึกแถวอีกฟากหนึ่งทางตะวันออกมีลักษณะคล้ายตึกฟากตะวันตก  จะแตกต่างกันเฉพาะหน้าต่างคือตึกทางฟากตะวันออกจะมีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ เพราะไม่มีปูนปั้นเหนือขอบหน้า นอกเหนือจากนี้จะเหมือนกันตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทุกประการ

                                                                soiprayasri clip image002 0002               soiprayasri clip image002 0003        

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com