พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
ที่ตั้ง
บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงข้ามกับป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุลาลัย ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 10 ค่ำ จุลศักราช 1149 ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330
ตอนท้ายรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคต) พระองค์ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าในพระราชวังบวร รับราชการในสมเด็จพระบรมชนกนาถต่างๆ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2356 พระชนมายุ 26 พรรษา พระองค์ทรงมีราชการประจำคือทรงเป็นผู้บัญชาการกรมท่า กับโปรดให้จัดสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน และทรงบังคับราชการในกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง
นอกจากราชกิจดังกล่าวแล้ว พระองค์ทรงมีหน้าที่ในการป้องกันพระนครและทำการอันเป็นที่เจริญพระราชหฤทัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถอีกด้วย กล่าวคือ เป็นแม่กองสร้างป้อมที่เมืองสมุทรปราการ 6 ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ป้อมผีเสื้อสมุทร และป้อมนาคราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์มาจนถึงปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 (พ.ศ. 2367) ก็ทรงพระประชวรไข้พิษอันร้ายแรงไม่รู้สึกพระองค์ ไม่ได้ทรงดำเนินพระบรมราชโองการพระราชทานมอบสิริราชสมบัติแก่ผู้ใด ด้วยทรงพระประชวรอยู่สามเวลาก็เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ได้ปรึกษาเห็นพ้องต้องกันและยอมถวายราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เพราะเห็นว่าทรงพระปรีชาสามารถปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาโดยลำดับอยู่แล้ว ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระบรมโอรสาธิราชและยังมีพระชนมายุน้อย ทั้งยังเสด็จทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาโดยทรงศรัทธาเลื่อมใส มิได้ทรงพระดำริมุ่งหมายที่จะให้มีเหตุการณ์บาดหมางในพระบรมราชวงศ์ ดังนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อวันพุธ เดือน 6 แรม 11 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1186 ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367
พระราชกรณียกิจ
การปกครอง คงเป็นไปตามแบบเดิมคือใช้ระบบการปกครองที่มีมาแล้วแต่รัชกาลก่อน มีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็แต่การบริหารส่วนกลาง คือ โปรดให้รวมกรมพระคลังกับกรมพระกลาโหมเข้าด้วยกัน
งานพระราชพิธี คงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ดังเดิมไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงมากนัก
การป้องกันรักษาพระนคร โปรดให้สร้างป้อมเพิ่มเติมทางด้านเมืองสมุทรปราการ สมุทรสาคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นต้น
การเศรษฐกิจ ปรากฏว่ามีรายได้จากการเก็บภาษีอากรมากขึ้น
การศาสนา ทรงสร้างวัด 3 วัด และทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งในพระนครนอกพระนคร
งานสถาปัตยกรรม วรรณคดี และศิลปะ สมัยนี้สิ่งก่อสร้างต่างๆ อันนับได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมของไทยสมัยรัชกาลก่อนๆ ได้ร่วงโรยลงด้วยอายุขัย ก็โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงอย่างแข็งขันทุกทาง เมื่อแรกสร้างพระนครนั้นวังหน้าใหญ่โตงดงามกว่าวังหลวง และทำเป็นตัวตึกก่ออิฐถือปูนโดยทั้งหมด ส่วนวังหลวงทำด้วยไม้โดยมาก เว้นแต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามกับปราสาทราชมนเทียรเท่านั้นที่สร้างด้วยอิฐ ในรัชกาลนี้จึงทรงเปลี่ยนเป็นสร้างด้วยอิฐทั้งหมด และลักษณะของสถาปัตยกรรมมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีนผสมอยู่มาก เพราะมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาก ด้านวรรณคดี ก่อนเสวยราชสมบัติก็ปรากฏว่า พระองค์ทรงใฝ่พระทัยอยู่มาก เพื่อให้เป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงสนับสนุนศิลปะทุกด้าน (เว้นไว้นาฏศิลป์)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน จุลศักราช 1212 เวลา 8 ทุ่มห้าบาท (ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2393)
ประวัติความเป็นมาของโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
โครงการนี้เป็นแนวความคิดที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโลหะปราสาท ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ แวดล้อมด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดราชนัดดารามวรวิหาร และภูเขาทอง เดิมโลหะปราสาทถูกบดบังด้วยอาคารภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ได้เสนอโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโลหะปราสาทต่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าโลหะปราสาทตั้งอยู่ในบริเวณที่เปรียบเสมือนประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก สมควรส่งเสริมทัศนียภาพของโลหะปราสาทให้ปรากฏแก่สาธารณะชน โดยการรื้อถอนอาคารโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยสำหรับพื้นที่โล่งว่างที่เกิดขึ้น คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ได้พิจารณาว่าสมควรจัดสร้าง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์พิจารณาเห็นว่าวัดราชนัดดารามวรวิหารสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในปัจจุบันยังไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านประดิษฐานในที่สาธารณะแห่งใดเลย ฉะนั้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์จึงเห็นสมควรประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ ที่แห่งนี้ด้วย ส่วนพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อต้อนรับราชอาคันตุกะหรือประมุขของต่างประเทศนั้น เนื่องจากก่อนการสร้างพลับพลานี้ได้ใช้พลับพลาชั่วคราวซึ่งสร้างบริเวณเชิงทางลาดของสะพานผ่านฟ้าลีลาศ คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์จึงเห็นสมควรให้จัดสร้างพลับพลาถาวรรวมไว้ในบริเวณนี้ด้วย เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์จึงกราบบังคมทูลฯ อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และสวนสาธารณะ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2533 ซึ่งเป็นวันขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศาลาเฉลิมไทยเมื่อครั้งแรกสร้าง
|
ศาลาเฉลิมไทยก่อนที่จะถูกรื้อในเดือนมีนาคม 2532 |
ศาลาเฉลิมไทยขณะกำลังถูกรื้อ |
ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อลงอย่างสมบูรณ์ |
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม/ศิลปกรรมที่สำคัญ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพระบรมรูปประทับนั่งบนพระที่นั่งกงขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง มีแท่นฐานรองรับ 2 ชั้น ทำด้วยหินอ่อน ด้านหลังพระบรมรูปเป็นฉากรูปพระวิมาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ พื้นฉากด้านหน้าเป็นหินอ่อนเรียบ ฉากด้านหลังเป็นหินอ่อนจารึกพระราชประวัติ ลวดลายรูปพระวิมานเป็นกระเบื้องเคลือบ พื้นลานที่รองรับแท่นฐานเป็นหินแกรนิต ซึ่งรวมทั้งกระถางต้นไม้ที่อยู่ตามมุมด้วย กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปั้นพระรูป ผู้ที่ปั้นพระรูปคือ นายสุภร ศิระสงเคราะห์ กองหัตถศิลป กรมศิลปากร
พระบรมราชานุสาวรีย์ | คำจารึกด้านหลังฉากรูปพระวิมาน |
พลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
พื้นลานทั้งหมดเป็น ค.ส.ล. ปูด้วยหินแกรนิต จัดเป็นที่นั่งพักผ่อนของประชาชน รั้วรอบบริเวณเป็นรั้วเตี้ย กรุกระเบื้องปรุเคลือบสี มีเสาประทีปและกระถางต้นไม้สลับกัน บริเวณพื้นลานจัดเป็นสวนปลูกต้นไม้ ซึ่งใช้เป็นที่พักผ่อน พื้นที่บริเวณก่อสร้างทั้งหมดได้รับมอบจากกรมธนารักษ์เป็นจำนวน 1,332.12 ตารางวา เมื่อตัดบริเวณทางเท้าโดยรอบออกแล้วคงเหลือประมาณ 1,000 ตารางวา
พลับพลาที่ประทับ
ลักษณะของพลับพลา เป็นพลับพลาโถงจตุรมุข หลังคาลด 2 ชั้น มีพาไลปีกนกโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปั้นลายปิดทองประดับกระจก เพดานปิดทองลายฉลุประดับดาวเพดาน เสาในเขียนลายรดน้ำ เสานอกบุหินอ่อนปั้นบัวปลายเสาและบัวตีนเสาปิดทอง ตัวพลับพลาล้อมรอบด้วยระเบียงสีดำปิดทองประดับกระจก พื้นแบ่งเป็น 2 ระดับ ในส่วนที่ประทับและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า ยกพื้นสูง 0.45 เมตร ปูด้วยหินอ่อนทั้ง 2 ระดับ ขนาดของพลับพลาความกว้างของมุข 8 เมตร ยาวตลอด 15.50 เมตร โครงสร้างทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สถาปนิกผู้ออกแบบ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) ปี 2541
ตัวพลับพลาที่ประทับ |
ลักษณะหน้าบันของพลับพลาที่ประทับ |
รายละเอียดราวระเบียง |
เพดานปิดทองฉลุลาย |
เสาในปิดทองเขียนลายรดน้ำ |
เสานอกบุหินอ่อนปั้นบัวหัวเสา |
ศาลาราย
ศาลารายสำหรับข้าราชการและแขกผู้มีเกียรติเฝ้ารับเสด็จฯ และร่วมพิธีจำนวน 3 หลัง อยู่ทางทิศใต้ของพลับพลา ลักษณะเป็นศาลาโถงขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันปั้นปูน พื้นหินอ่อน เสา ค.ส.ล. ผิวขัดปูนตำ
ลักษณะของศาลาราย |
ลักษณะของหน้าบันศาลาราย |
บรรณานุกรม
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, สำนักงาน. พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 21 กรกฎาคม 2533.