ชุมชนท่าเตียน
ที่ตั้ง
ชุมชนท่าเตียนตั้งอยู่ในแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับถนนมหาราช
ทิศใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก ติดกับตรอกสหกรณ์
ทิศตะวันตก ติดกับตรอกโรงโม่
ชุมชนท่าเตียน ถือว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญของเขตพระนคร และเกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ ใกล้กับปากคลองตลาด ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายดอกไม้ที่สำคัญและมีชื่อเสียง เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับท่าเตียนนั้น มีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก โดยเรื่องที่เป็นประวัติชุมชนมีการเล่าเรื่องทั้งแบบปรัมปราคติ (Myth) และเรื่องเล่าเชิงประวิศาสตร์ที่มีหลักฐานแวดล้อมยืนยันได้
ประวัติ
เรื่องเล่าแบบปรัมปราคติของชุมชนท่าเตียนนั้น กล่าวกันว่า “ ท่าเตียน” หมายถึงที่โล่งเตียน ที่โล่งเตียนนี้มีความเป็นมาจากการที่ยักษ์สองตนคือยักษ์วัดแจ้ง ( วัดอรุณ) และยักษ์วัดโพธิ์( วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ซึ่งเป็นวัดที่ขนาบสองข้างด้านทิศเหนือและใต้ของชุมชนอยู่ ยักษ์สองตนนี้เกิดสู้รบกัน ยักษ์นั้นมีร่างที่ใหญ่โตมโหฬาร เมื่อรบกันแล้ว ก็ทำให้ผืนดินที่อยู่ระหว่างกลางนั้นกลายเป็นที่โล่งเตียน นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ ท่าเตียน” เรื่อยมาจนปัจจุบัน
“ ...เพลิงไหม้เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1 เวลายามเศษ ไฟไหม้เสียหายจำนวนมาก เป็นเรือนหม่อมเจ้าในกรมสุรินทร์รักษ์ (กรมหมื่นสุรินทรรักษ พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา) 28 หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ (พระองค์เจ้ามหาหงษ พระนามเดิม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามหาหงษโสภาค ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ) 3 หลัง เรือน 13 หลัง เรือนข้าราชการและราษฎร 44 หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง 1 โรง ประตูท่าช้างล่าง ตัวไม้ในโรงเรือนที่จะใช้สร้างวังและพระอารามหลวงกว่าร้อยต้น.. ”
เพลิงไหม้ในครั้งนั้นกินเนื้อที่กว้างขวางมาก เป็นเหตุให้บริเวณนั้นราบเรียบเตียนโล่งผิดตาจากเดิม จนคนทั่วไปใช้เป็นที่หมายเรียกลักษณะเด่นของบริเวณนั้นว่า “ ท่าเตียน”
ประการที่สอง มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ ฮาเตียน” ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งในประเทศญวน ชาวญวนได้อพยพเข้ามาตั้งฐานพำนักในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน และกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพระนครและธนบุรี มีชาวญวนบางคนซึ่งเห็นภูมิประเทศบริเวณนี้คล้ายคลึงกับภูมิประเทศส่วนหนึ่งของเมืองฮาเตียนที่เคยอยู่อาศัยจึงเรียกบริเวณนั้นว่า ฮาเตียน
ลุงจุล ดรุณวิจิตรเกษม ตัวแทนชุมชนท่าเตียนและผู้รู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนท่าเตียนว่า ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระแก้วและติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีอายุประมาณ 230 ปีแล้ว ตั้งบ้านเรือนกันมาตั้งแต่สมัยธนบุรีเป็นเมืองหลวง ที่นี่เคยเป็นเมืองท่าเก่าแก่ครั้งตั้งแต่การค้าสำเภาจีนของอยุธยา ซึ่งก็ดูหลักฐานได้จากถ้วยชามลวดลายจีน ที่ถูกพบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ชุมชนท่าเตียนเป็นชุมชนการค้ามาตั้งแต่อดีต มีทั้งคนท้องถิ่นเดิม และลูกหลานของพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือสำเภามาทำการค้าขาย นอกจากนี้ในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ คนในชุมชนท่าเตียนก็มีส่วนในการก่อสร้างบ้านเมือง เป็นทั้งที่พักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เองก็มีส่วนในการก่อตั้งชุมชนแห่งนี้อย่างเป็นทางการเพื่อให้คลายความคิดถึงถิ่นฐานที่เคยอยู่ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ ท่าเตียน” อาจกล่าวได้ว่าบ้านญวนแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์ คือบ้านญวนในแถบท่าเตียนถึงพาหุรัด เรียกว่าญวนฮาเตียนหรือท่าเตียนในปัจจุบันนั่นเอง
ด้วยความที่ชุมชนท่าเตียนนั้นอยู่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ในอดีตมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองพระนครอย่างมากในฐานะย่านตลาดการค้าที่ใหญ่และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ท่าเตียนนี้เป็นท่าเรือที่ขนส่งอาหารผักและผลไม้เข้ามาขายจากภูมิภาคต่างๆ (เพราะสมัยก่อนผู้คนนิยมติดต่อไปมาหาสู่กันทางน้ำมากกว่าทางบก) และยังเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ท่าเตียนในยุคสมัยเมื่อช่วง นับตั้งแต่ปลายรัตนโกสินทร์จนกระทั่งราว พ. ศ. 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คึกคักไปด้วยการเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย ซึ่งไม่ต้องสงสัยกันเลยว่าเพราะเหตุใด ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการที่คนจีนเข้ามาอยู่ในชุมชน โดยลักษณะของคนจีนมีความขยันขันแข็งและชอบทำการค้า ประกอบกับแหล่งที่ตั้งชุมชนเหมาะกับการเป็นที่ค้าขายเพราะติดทั้งทางบกและมีแม่น้ำ น้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำสำคัญในการเดินทาง ชุมชนท่าเตียนจึงเต็มไปด้วยสีสันและเปรียบเสมือนสิ่งที่เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองของชุมชนในเขตเมืองพระนครได้เป็นอย่างดี
สภาพโดยทั่วไป
หลักฐานที่พอจะอ้างได้จากผู้คนที่อยู่อาศัยในชุมชนมาแล้วเมื่อประมาณ 60 – 70 ปี ได้รำลึกให้ทราบว่าเมื่อราว 70 – 100 ปีก่อน ท่าเตียนยังเป็นสถานที่สำคัญในฐานะสถานการค้าและแหล่งชุมชนชาวจีน โดยคุณลุงสุวิทย์ อายุ 68 ปี และ คุณยาย (อาม่า) บุญดี ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่เกิดได้ช่วยแสดงภาพอดีตของชุมชนในช่วงนั้นให้ได้ฟังว่า (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547) สภาพโดยทั่วไปชุมชนท่าเตียน เป็นชุมชนที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวแม่น้ำเนื้อที่บริเวณ 3.5 ไร่ จำนวนบ้านเรือน 800 คัวเรือน ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นอาคารพาณิชย์เก่าแก่สมัย รัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยเรอเนสซองส์ บริเวณริมน้ำปลูกที่รุกคลองค่อนข้างหนาแน่น อาชีพเป็นการค้าขาย ตลอดแนวย่านถนนท้ายวัง นอกจากนั้นยังมีแหล่งสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ชุมชนท่าเตียนนอกจากมีความเก่าแก่แล้วยังเป็นที่ที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการขนส่งที่สำคัญ
บริเวณท่าเตียนนี้มีท่าเรือสำคัญแปดท่า คือท่าเรือขาวและท่าเรือเขียวในซอยประตูนกยูง ทาเรือสุพรรณหรือท่าเรือสีเลือดหมู ท่าเรือแดง ท่าขาวโพด ท่าสหกรณ์ และท่าโรงโม่ แต่ละท่าจะมีเส้นทางเดินเรือต่างกัน มีสินค้าขึ้น-ลงต่างกัน รวมถึงผู้คนจากท้องที่ต่างกัน แม่น้ำและท่าเรือจึงเป็นเสมือนสื่อเชื่อมโยงคนเข้ามายังท่าเตียน ผู้คนในชุมชนท่าเตียนส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยเป็นคนจีนที่มีเชื้อสายแต้จิ๋วราว 80 เปอร์เซ้นต์ บ้างก็มาจากเมืองจีนเอง บ้างก็ย้ายมาจากชุมชนอื่นเพราะเล็งเห็นแล้วว่า ชุมชนมีความพร้อมและเหมาะกับการค้ามาก ชาวจีนจากหลายที่จึงเข้ามาจับจองค้าขายทำกิน คนอีกกลุ่มหนึ่งในท่าเตียนคือคนที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2510 และคนที่มาเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในท่าเตียนแต่พักอาศัยอยู่ที่อื่นด้วย คนเหล่านี้เป็นคนที่มาจากท้องที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ตลอดจนผู้ที่อาศัยในจังหวัดต่าง ๆ ตามเครือข่ายลุ่มน้ำในภาคกลาง อาทิ นครสวรรค์ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี เป็นต้น คนเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้าในช่วงที่การคมนาคมทางน้ำยังคงเป็นเส้นทางหลัก ส่วนหนึ่งอาจมาเพื่อนำสินค้า วัตถุดิบ ผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาขายหรือเข้ามารับจ้าง ขณะที่คนจีนซึ่งถือเป็นคนในพื้นที่รวมถึงคนที่เข้ามาก่อนปี พ.ศ . 2510 เป็นคนกลุ่มที่ทำการค้าเป็นหลักและมักมีที่พักอาศัยเป็นอาคารพาณิชย์ ส่วนคนที่มาจากแถบอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ที่เข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2510 อาศัยอยู่ชายน้ำหลังตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับปลา เช่น เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายปลา เป็นยี่ปั๊วปลาสลิด หรือรับจ้างทำปลา
การค้าในท่าเตียนซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งค้าส่งหรือยี่ปั๊วในภาษาจีนนั้นมีสินค้าหลากหลายชนิด สินค้าที่เป็นการค้าขายในลักษณะขายส่งที่ยังมีผู้ประกอบการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ น้ำตาลปี๊บ ไข่เค็ม-ไข่สด อาหารทะเล ปลาสลิด ร้านโชห่วย ร้านขายยาแผนโบราณ นอกจากนี้ด้วยเหตุที่ท่าเตียนเคยเป็นศูนย์การคมนาคมและแหล่งสินค้านานาชนิดจึงมีร้านอาหารมากมายเพื่อรองรับผู้คนที่มาค้าขายและมาหาซื้อสินค้าโดยยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของร้านอาหารในท่าเตียนคือยุคเรือเมล์สองชั้น เมื่อผ่านยุคสมัยของเรือเมล์ ร้านอาหารในท่าเตียนยังมีลูกค้าหลักคือข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่มาติดต่อราชการกับกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และหน่วยราชการอื่น ๆ ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้าถูกย้ายออกไป กลุ่มลูกค้าจึงกลายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยววัดพระเชตุพนวิมลมังคลรามแล้วแวะเวียนมารับประทานอหาร ดังนั้นจำนวนลูกค้าจึงเชื่อมโยงกับฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงที่ร้านอาหารขายดีกว่าปกติ
เมื่อเปรียบเทียบท่าเตียนกับท่าพระจันทร์แล้วการที่ท่าเตียนได้เป็นท่าส่งของและโดยสารเนื่องจาก ทั้งท่าช้างและท่าพระจันทร์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นท่าที่ส่งของมาจากสวน และทั้งในสมัยก่อนทั้งท่าช้างและท่าพระจันทร์มีความใกล้ชิดกับวังมาก เป็นเขตพระราชฐานไม่สามารถเป็นที่จับจ่ายข้าวของดั่งเช่นทุกวันนี้ได้ สมัยแรกๆ ที่ท่าเตียนเป็นชุมชนนั้น สร้างตึกแถวไว้ให้เช่าในราคา 8 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเงินเมื่อราว 80 ปี ที่แล้วถือว่าไม่ถูกนัก แต่ด้วยเพราะการทำการค้าที่นี่มีแต่กำไรเพราะคนมากจึงเป็นที่แย่งจับจองของคนทั่วไป ซึ่งนับตั้งแต่แรกเริ่มสร้างจนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังคงใช้รูปแบบเก็บค่าเช่ารายเดือน โดยทำสัญญาให้ปีต่อปี จาก 8 บาท จนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,740 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าถูกมาก ไม่มีใครซื้อกรรมสิทธิ์ เด็ดขาด กรรมสิทธิ์ยังเป็นของวัดพระเชุพนวิมลมังคลาราม นับตั้งแต่ที่สร้างมาในช่วงชีวิตของท่านทั้งสอง มีการปรับปรุงตึกแถวและชุมชน 3 ครั้ง ครั้งแรกในปีขาล เมื่อราว 50 ปีก่อน ครั้งที่สองคือปี 2539 ก็คงสภาพแบบตึกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2556 ได้รับการปรับปรุงจนมีลักษณะสวยงามเป็นระเบียบ
ก่อนการปรับปรุง | หลังการปรับปรุง |
บรรณานุกรม
ดำรง อินทร์จันทร์. ท่าเตียน : วัด วัง บ้าน ร้าน ตลาด และผู้คน. กรุงเทพฯ : คมบาง, 2558.
เทพชู ทับทอง. "ท่าเตียน-เตียนจริงๆ" ศิลปวัฒนธรรม 1, 9 ( กรกฎาคม-ธันวาคม 2523) : 48-53.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ . ถนนสายวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ = Bangkok cultural route. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2545 .