เสาชิงช้า
ที่ตั้ง ด้านหน้าวัดสุทัศน์ฯ ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ทิศใต้ จรด วัดสุทัศน์เทพวราราม
ทิศตะวันออก จรด ถนนอุณากรรณ
ทิศตะวันตก จรด ถนนบำรุงเมือง
ประวัติความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2327 บนพื้นที่ที่เป็น "สะดือเมือง" หรือศูนย์กลางของพระนครโดยวัดจากกำแพงเมืองด้านฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกถึงกำแพงเมืองฝั่งป้อมมหากาฬ สำหรับประกอบพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ตามโบราณราชประเพณีและด้วยคติความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่าเพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงแข็งแรงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อมหาเทพทั้งสาม ได้แก่ พระอิศวร พระพิฆเณศวร และพระนารายณ์ ผู้สร้างและปกปักรักษาโลก และเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ประมาท เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานปูนสูงรูปทรงวงกลมเป็นไม้สูงใหญ่ยอดประดับด้วยแผ่นไม้ฉลุลายที่ฐานของเสาทั้งสองข้าง ต้นเสาสูงและเสาตะเกียบทาสีดินแดง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานปูนสูงรูปวงกลมตัวเสาเป็นไม้สูงใหญ่ยอดเสาประดับไม้แผ่นฉลุลายที่ฐานของเสาทั้ง 2 ข้าง มีเสาตะเกียบปลายเป็นรูปทรงมัณฑ์ขนาบข้างละ 2 ต้น ต้นเสาสูงและเสาตะเกียบทาสีดินแดง
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.