ชุมชนตรอกสุเหร่า
ที่ตั้ง
ชุมชนตรอกสุเหร่า ตั้งอยู่ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับถนนพระสุเมรุ
ทิศใต้ ติดกับวัดชนะสงคราม
ทิศตะวันออก ติดกับถนนจักรพงษ์
ทิศตะวันตก ติดกับตรอกไก่แจ้
ชุมชนตรอกสุเหร่าเดิมประกอบด้วยชุมชนที่อยู่รอบๆ มัสยิด เป็นที่ดินของเอกชนซึ่งอยู่กันมานาน ประชาชนส่วนใหญ่อิสลาม ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนย่านใจกลางเมือง ประกอบด้วยเจ้าของที่ดินปลูกบ้านเป็นห้องแบ่งให้เช่า จึงมีผู้เข้ามาอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น
ประวัติ
ประชาชนในชุมชนตรอกสุเหร่าเป็นกลุ่มคนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมาตั้งรกรากอยู่บริเวณชุมชนตรอกสุเหร่า บางลำพู โดยชนผู้อพยพกลุ่มนี้มีวิชาชีพการทำเครื่องทองติดตัวมา เนื่องจากการทำเครื่องทองของไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก บรรดาช่างทองของไทยที่มีฝีมือหลายคนได้อพยพครอบครัวลงสู่ภาคใต้ของประเทศไทย วิชาช่างทองจึงได้กลับมาอีกครั้งจนปรากฏชื่อเครื่องทองและเครื่องถมเมืองนครในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีเจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้บำรุงส่งเสริมและนำเข้าสู่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3
การประกอบอาชีพ
ในระยะแรกของการตั้งรกรากชาวบ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแน่นอน เพียงแต่ทำการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมไปกับอาชีพกสิกรรม ยังไม่ได้ใช้ความรู้และความสามารถในการทำเครื่องทองเป็นอาชีพในการทำมาหากินอย่างจริงจัง เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องทองเป็นของที่มีราคาสูง ไม่ใช่ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันจึงไม่มีตลาดที่จะขายผลิตภัณฑ์
สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนในชุมชนตรอกสุเหร่ากลับมายึดอาชีพช่างทำทองอีกครั้ง ก็เนื่องมาจากการที่ได้ร่วมใจกันทำช้างทรงทองคำประดับเพชร ทับทิบ มรกต ด้วยฝีมืออันประณีตขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลงานชิ้นนี้ทำให้ความสามารถของช่างทำทองนี้เลื่องลือไปในราชสำนัก ช่างทองที่มีฝีมือบางคนจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้าไปเป็นช่างทองหลวง มีหน้าที่ผลิตเครื่องทอง (เครื่องประดับตามโบราณราชประเพณีสำหรับใช้ในพิธีต่าง ๆ เช่น ในพิธีบรมราชาภิเษก พิธีอภิเษกสมรส เป็นต้น) และเครื่องราชูปโภค (ของใช้ตามปกติของพระมหากษัตริย์ เช่น พานขันหมาก กรรไกรทองคำ เป็นต้น) ถวายแด่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บุคคลเหล่านี้มีฐานะเป็นข้าราชการรวมอยู่ในกรมช่าง 10 หมู่ กลุ่มช่างทองชุมชนตรอกสุเหร่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 6 แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- ช่างทองหลวง ได้แก่ ช่างทองที่ไปรับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งประกอบไปด้วยช่างทองที่เป็นข้าราชการประจำกับช่างทองเบี้ยหวัดรายปี
- ช่างทองประจำหมู่บ้าน ได้แก่ ช่างทองที่ทำงานอยู่กับบ้าน ทำงานอิสระ เปิดตลาดขายกับราชสำนัก ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี
ชาวบ้านในชุมชนตรอกสุเหร่ามีอาชีพทำทองกันทุกครัวเรือน และต่างก็มีฐานะมั่นคงและมีฐานะทางสังคมสูงขึ้นเรื่อยมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในอาชีพการทำเครื่องทองของชุมชนแห่งนี้ คือ ได้มีช่างชาวเยอรมัน ชื่อนายไกรซ์เล่อ ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างทองที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
นายไกรซ์เล่อเป็นบุคคลแรกที่นำเอาวิทยาการ ตลอดจนกรรมวิธีแบบใหม่ในการผลิตเครื่องประดับแบบตะวันตก เข้ามาเผยแพร่และเนื่องจากรูปแบบการผลิตของนายไกรซ์เล่อเป็นกรรมวิธีแบบใหม่ที่น่าสนใจ จึงทำให้แพร่หลายออกไปได้อย่างรวดเร็ว และได้มามีอิทธิพลโดยตรงต่อช่างทำเครื่องทองชุมชนตรอกสุเหร่า ตลอดจนผู้ใช้เครื่องประดับโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยลักษณะการทำเครื่องประดับแบบใหม่ที่นายไกรซ์เล่อนำเข้ามาเผยแพร่คือ การใช้เพชรลูก (เพชรที่เจียระไนเป็นลูกกลม มีเหลี่ยมมาก สะท้อนแสงได้ลึก น้ำงานและมีราคาสูง) แทนเพชรซึก (เพชรที่เจียระไนแบน มีเหลี่ยมน้อยและเหลี่ยมใหญ่ น้ำไม่ลึกซึ้ง) และเป็นเครื่องหน้าเงิน (ใช้เงินแผ่บาง ๆ บนแผ่นทองเพื่อให้เพชรสะท้อนแสงกับเงิน) และมีการตั้งกระเปาะ (การยกข้างแหวนให้สูงขึ้นโดยการใช้ทองมาขดเป็นจานกลม ฉลุลายโดยรอบเพื่อรองรับข้างแหวน) แทนการฝังแบบโบราณ นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีแบบใหม่เข้าช่วย
วิธีการผลิต
วิธีการผลิตเครื่องประดับทองของช่างที่นี่ มีหลากหลายขั้นตอน อีกทั้งประเภทของเครื่องประดับที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นจี้ สร้อย แหวน กำไล ต่างหู เครื่องราชย์ฯ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ภายในวังนั้น ก็มีกรรมวิธีและเทคนิคที่ต่างกันไปด้วยเช่นกัน ในโอกาสนี้จะเป็นกรรให้ข้อมูลวิธีการผลิตเพียงหนึ่งประเภทคือ แหวน
ขั้นตอนแรกคือ การวัดขนาดนิ้วของผู้สวมใส่ด้วยที่ลองเบอร์แหวน และกำหนดรูปแบบของแหวนที่ต้องการว่า จะให้เป็นลักษณะใด ซึ่งจะอธิบายวิธีการผลิตแหวนยกยอดโดยสังเขปดังนี้
- เตรียมวัตถุดิบ คือ ใช้ทองคำเนื้อ 90-95% (ซึ่งมีส่วนผสมของเงินและทองแดง) มาหลอมให้เป็นเนื้อเดียวจนละลายเหลวได้เนื้อ 90% แล้วเทใส่รางเททองตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นจึงนำมาใส่ในน้ำกรด (ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้เนื้อทองสุกเหลืองสวยกว่าเดิม) นำขึ้นล้างน้ำแล้วเข้าเครื่องหีบให้เนื้อแน่นและได้ขนาดเล็กใหญ่ตามต้องการ
- ทำกระเปาะ (จานรองหัวแหวน) โดยการนำทองไปเข้าลูกหีบตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาตัดเป็นแผ่นยาวด้วยกรรไกรตัดทองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วขดให้เป็นวงกลมด้วยคีม จากนั้นจึงนำไปแล่น (เชื่อมด้วยไฟ) ให้ทองติดเป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อ และทำลวดลายบนกระเปาะให้สวยงาม ส่วนใหญ่จะนิยมลายก้านขดและลายหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการแทงหนามเตย บริเวณตัวกระเปาะเพื่อความสวยงามด้วย
- ทำตัววงแหวน โดยเอาทองไปเข้าลูกหีบให้ยาวและหนาตามขนาดของแหวน 1 วง แล้วขดทองให้เป็นวงกลมด้วยเหล็กละเมิด แต่งให้เนียนด้วยค้อน จากนั้นจึงนำแหวนไปแล่นให้ติดกับตัวกระเปาะ โดยใช้เศษทอง เงิน ทองแดงชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับน้ำประสานทอง (ก้อนผลึกสีของกรดสารส้ม นำมาปนกับน้ำในจานเคลือบ) ทาลงไปแล้วเชื่อมติดด้วยไฟ หลังจากนั้นจึงแต่งด้วยตะไบ (หรือเครื่องเจียรไฟฟ้าในปัจจุบัน)
ปัจจุบันช่างทองของชุมชนตรอกสุเหร่าเหลือเพียงคนเดียวคือ ป้าเล็ก ลอประยูร ได้เล่าว่า “ เดี๋ยวนี้เหลือป้าคนเดียวที่ยังทำทองอยู่ เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่เอากันแล้ว ทำทองเป็นงานละเอียด กว่าจะเสร็จก็นาน ลูกหลานก็เลยไม่เอา บ้านป้าเองทำมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณตาตกทอดมาถึงแม่ป้า แล้วจนถึงป้านี่แหละ พี่น้อง ลูกหลานไปทำงานบริษัทกันหมด” ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาคือ รับจ้าง และประกอบอาชีพเป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจน้อยที่สุด
ทั่วไป
เป็นชุมชนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ติดกัน ลักษณะอาคารเป็นบ้านไม้สองชั้น และบ้านเช่าครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น เรียงติดกันอย่างหนาแน่น และอยู่กันมายนานกว่า 30 ทางเข้าชุมชนมีทางเข้าเป็นคอนกรีตทั้งหมด ซึ่งมีขนาดแคบๆ ในชุมชนมีร้านค้า ร้านอาหารมุสลิม เมื่อเดินไปตามทางเข้าตรอกจะพบกับมัสยิดจักรพงษ์ ซึ่งอยู่ตรงกลางชุมชน อันเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และกิจกรรมของชุมชน
โครงสร้างประชากร
ชุมชนตรอกสุเหร่ามีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 160 ครอบครัว จำนวนประชากร 755 คน ประชาชนเกือบทั้งหมดนับถืออิสลาม จบการศึกษาภาคบังคับมากที่สุด จบอาชีวะมีจำนวนรองลงมา และจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด
หมายเหตุ
ข้อมุลจากการสัมภาษณ์ช่างทองปริทรรศน์. ผู้จัดการปริทรรน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2547 และ ป้าเล็ก ลอประยูร วันที่ 16 กรกฎาคม 2547