มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่ตั้ง

31  ถนนหน้าพระลาน  แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ประวัติ

ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรคือวังท่าพระ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ 1) เริ่มทรงสร้างกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2325 นั้น ได้ทรงสร้างวังพระราชทานเจ้านายพระองค์ชายซึ่งเจริญพระชันษาขึ้น 8 วัง ตั้งอยู่สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา วังท่าพระเป็นหนึ่งในสามวังที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมในเวลาต่อมาที่ริมถนนหน้าพระลานตั้งแต่ท่าพระขึ้นไปถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรี นับเป็นวังรุ่นแรกๆ ที่เกิดในช่วงสถาปนาพระนคร เดิมอาจจะไม่เคยตั้งชื่อวังไว้แต่มาปรากฎนามชัดเจนเป็นวังท่าพระเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จมาประทับ

เมื่อแรกสร้าง วังท่าพระอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง นับว่ามีอาณาบริเวณใกล้ชิดเชื่อมต่อกับวังหลวงมาก ด้านตรงข้ามติดเขตวังกรมพระบำราบปรปักษ์ หรือ "วังกลาง" ซึ่งปัจจุบันมีพระตำหนักเหลืออยู่เป็นที่ทำการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ด้านหลังชิดเขตวัดมหาธาตุ ประตูท่าพระและบริเวณวังอยู่ติดชายแม่น้ำ มิได้มีอาคารพาณิชย์และถนนหน้าพระธาตุคั่นไว้เช่นในปัจจุบัน ลักษณะวังเป็นวังเจ้าฟ้า กำแพงวังมีใบเสมาซึ่งเป็นเครื่องหมายขัตติยศักดิ์ว่าเป็นชั้นเจ้านายครองเมืองตามโบราณราชประเพณี ท้องพระโรงทำหลังคาเป็นมุขลด 2 ชั้น มีเรือนห้าห้องสองหลังแฝดเป็นตำหนักใหญ่ เรือนห้าห้องหลังเดียวเป็นตำหนักน้อย มีเรือนบริวารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ลักษณะการวางอาคารใช้ลักษณะการวางท้องพระโรงด้านยาวออกหน้าวัง ตำหนัก 3 หลังและตำหนักน้อยหันด้านสกัดให้ท้องพระโรง มีชานกลางต่อเนื่องกัน

รัชกาลที่ 1โปรดให้สร้างวังท่าพระเพื่อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เรียกกันว่า "เจ้าฟ้าเหม็น" พระราชนัดดาประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในขณะดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่มาประทับต่อประมาณปี พ.ศ. 2352 เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ววังท่าพระได้เป็นที่ประทับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนสิ้นพระชนม์ จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมสาย ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นแล้วเลื่อนเป็นกรมขุนราชสีหวิกรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานให้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 3 เมื่อกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติได้สิ้นพระชนม์แล้ว จึงพระราชทานให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มาประทับ ณ วังท่าพระต่อมาเป็นเวลานานกว่า 64 ปี ที่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงครอบครองวังท่าพระ ต่อมาได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรจวบจนปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ เดิมคือ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ได้เปิดสอนวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ Corrado Feroci ชาวอิตาเลียนซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น และได้เจริญเติบโตเป็นลำดับเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2486 คณะจิตรกรรมและประติมากรรมได้รับการจัดตั้งเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคณะจิตรกรรมและประติมากรรมและภาพพิมพ์) ในปี พ.ศ. 2498 ได้จัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมไทย (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) และคณะโบราณคดี ปีต่อมาก็ได้จัดตั้งคณะมัณฑนศิลป์ขึ้น
ในปี พ.ศ. 2509 มหาวิทยาลัยศิลปากรมีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาและสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในวังท่าพระคับแคบมากไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ จึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยระยะแรกได้จัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ หลังจากนั้นได้จัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) คณะดุริยางคศาสตร์

พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขยายเขตการศึกษาไปจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ที่จังหวัดเพชรบุรีเพื่อกระจายการศึกษาไปสู่ภูมิภาค ใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี" จัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และคณะวิทยาการจัดการ และจะจัดตั้งคณะออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคต สำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2515

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 3
รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เสด็จประทับ ณ วังท่าพระในราวปี พ.ศ. 2352 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 23 พรรษา สมัยนั้นท้องพระโรงยังกั้นเป็นฝาเฟี้ยมไว้ตามแนวเสาด้านหน้าตลอด ด้านหน้าตั้งพระแท่นติดกับเสาต้นที่สองจากทิศตะวันออกซึ่งพระองค์ใช้เป็นที่ประทับทรงงานเป็นประจำ ที่หน้าวังนอกกำแพงตั้งเป็นโรงหมอลักษณะเป็นตึก 2 ชั้น อยู่ข้างขวามือเข้าไปที่ประตูวัง มีหมอมียาจำหน่ายและมีที่อยู่สำหรับคนไข้ด้วย ข้างซ้ายประตูวังมีตึกคู่กันอยู่อีก 1 หลังแบบเดียวกันแต่เป็นชั้นเดียวใช้เป็นโรงทาน

วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 4
เมื่อครั้งที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมสาย ประทับ ณ วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะของวังในขณะนั้นมีกำแพงใบเสมาล้อมรอบอย่างวังเจ้าฟ้า มีประตูสามหน้า โรงม้าหลังประตูข้าง 1 โรง เสลี่ยงช้าง 1 เก๋งจีน 2 ห้อง มีท้องพระโรงตรงทางออกประตู ทางด้านข้างตะวันตกท้องพระโรงมีเก๋งแฝดเป็นที่ชำระความ มีศาลเจ้าอยู่หลังฝาเก๋ง มีเรือนแถวริมกำแพงไปตลอดถึงหน้ากำแพงวังเป็นที่อยู่ของช่างทอง หลังท้องพระโรงเข้าไปเป็นตำหนักแฝดยาวยื่นเข้าไป เฉลียงด้านหน้าต่อกับท้องพระโรงเป็นทางเดินไปขึ้นหอพระ ที่มุมท้องพระโรงทางตะวันออกมาลงชลาระหว่างตำหนักแฝดกับตำหนัก 7 ห้อง ท้องพระโรง 5 ห้องเฉลียงรอบกั้นฝาด้านหลัง ชายคาเฉลียงท้องพระโรงกับตำหนักแฝดต่อกัน มีรางน้ำยาวตลอด พระแกลท้องพระโรงถักลวด ตำหนัก 7 ห้องยาวเท่าตำหนักแฝดมีกำแพงแก้วเป็นเขต ท้องพระโรงกับตำหนักแฝดชั้นล่างก่อปูน ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ฝาไม้ หลังตำหนักแฝดมีเรือนแถวขัดแตะถือปูนหลายหลังยาวเท่าๆ กันขวางตลอดไปสุดเขตตำหนัก 7 ห้อง ทางเดินใช้ช่องว่างระหว่างเรือนแถว โรงหมอและโรงทานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงตั้งอยู่ที่หน้าวังนอกกำแพง

วังท่าพระสมัยสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ตำหนักเก่าชำรุดผุพังหมด ท้องพระโรงยังเหลือดีอยู่แต่พื้นและเสา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักของเดิมพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ชำรุดลงเสีย สร้างตำหนักใหม่เป็นตึกฝรั่งตามสมัยนิยมในยุคนั้น 3 หลัง โดยสร้างต่อจากหลังท้องพระโรงไปทางทิศเหนือหลังหนึ่ง สร้างถัดไปทางทิศตะวันตกเรียงตามแนวเดียวกันหลังหนึ่ง สำหรับใช้เป็นที่ประทับ ถัดจากตำหนัก 2 หลังนี้ไปทางทิศเหนือสร้างเป็นตึกแถวยาว 8 ห้องสกัดไว้อีกหลังหนึ่ง สร้างตึกชั้นเดียวเป็นห้องเครื่อง ห้องคลัง และที่อยู่อาศัยมหาดเล็กหลวง รื้อถอนตะรางและโรงเรียนที่สร้างไว้ตามริมกำแพงวังเนื่องจากการขยายถนนมหาราชและถนนหน้าพระลาน ร่นเขตวังเข้ามาทั้งสองด้านแล้วทำกำแพงวังใหม่ด้านถนนหน้าพระลาน สร้างตึกแถวด้านถนนมหาราช ทำประตูวังใหม่สองครั้ง ท้องพระโรงต้องคอยซ่อมแซมอยู่เสมอ มีการเปลี่ยนใช้กระเบื้องซีเมนต์ทำเทียมแทนกระเบื้องดินเผาของเดิมที่ผุแตกหลายครั้ง เพิ่มตอม่อ หล่อคานเสริมแล้วปูพื้นไม้สักใหม่ทับพื้นไม้เก่า รื้อบันไดเวียนที่ขึ้นจากท้องพระโรงไปที่หน้ามุข และปรับปรุงห้องใต้ชั้นต่ำ

อาคารกลุ่มวังท่าพระเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรครอบครองเหลืออาคารกลุ่มซึ่งเป็นท้องพระโรงวังท่าพระต่อกับตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย อาคารทุกหลังยังคงสภาพเดิมเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังประทับอยู่ โครงสร้างของอาคารเก่าที่เป็นห้องเครื่อง ห้องคลัง ด้านหลังตำหนักกลาง ในระยะแรกมหาวิทยาลัยดัดแปลงเป็นโรงอาหารชั่วคราว และยังไม่มีการใช้สอยอาคารท้องพระโรงเช่นในปัจจุบัน อาคารตำหนักกลางและตำหนักพรรณรายใช้เป็นที่ทำการคณะโบราณคดี อาคารห้องแถวชั้นเดียวหัวมุมถนนมหาราชและถนนหน้าพระลานซึ่งสร้างในช่วงสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ประทับอยู่ก็คงอยู่ต่อมาอีกหลายปีใช้เป็นร้านค้าย่อยต่างๆ ต่อมาถูกรื้อทิ้งไปและสร้างเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดีและหอสมุดแทน ห้องแถวด้านถนนหน้าพระลานและด้านถนนมหาราชฟากตรงข้ามมีสภาพไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก

อาคารกลุ่มวังท่าพระซึ่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานมีอาคารท้องพระโรง ตำหนักกลางและสวนแก้ว ยกเว้นแต่ตำหนักพรรณรายไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยใช้อาคารกลุ่มวังท่าพระเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร อนุรักษ์สวนแก้วไว้ในสภาพเดิมและต่อมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้งบริเวณสวนแก้ว ศาลาดนตรีอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิมและเปิดใช้เฉพาะในกิจกรรมสำคัญทางวัฒนธรรม

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com