วังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรจักรพงษ์ (วังจักรพงษ์)
ที่ตั้ง
ริมถนนมหาราช ตรงข้ามกับเขตกระทรวงพาณิชย์ต่อเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
วังจักรพงษ์หรือบ้านจักรพงษ์เดิมเรียกว่าวังท่าเตียน สร้างขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2452 แล้วเสร็จกลางปี พ.ศ. 2453 เป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและหม่อมคัทริน ทรงสร้างไว้เป็นท่าเรือส่วนพระองค์และทรงสร้างพระตำหนัก ในลักษณะของบ้านพักผ่อนริมน้ำตามความประสงค์ของหม่อมคัทริน นอกจากนี้ยังทรงมีพระประสงค์จะให้เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าวรงศ์เธอพระองคเจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อราว พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาเคยเสด็จมาประทับที่วังนี้อยู่ระยะหนึ่ง หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากยุโรปครั้งแรก ยังไม่ทรงมีวังที่ประทับของพระองค์เอง
พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถสิ้นพระชนม์ วังท่าเตียนเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระชายา ต่อมาหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสทรงเสกสมรสใหม่ วังจักรพงษ์จึงว่างลงเพราะพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2481 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสด็จกลับประเทศไทยพร้อมหม่อมอลิซาเบธ ชายา วังท่าเตียนจึงได้รับการปรับปรุงเป็นที่ประทับสืบมา
ปัจจุบันวังจักรพงษ์หรือบ้านจักรพงษ์เป็นของ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ธิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นที่พำนักของ จุลจักร จักรพงษ์ บุตรชายคนโตของ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พักอยู่ที่เรือนไม้สองชั้นใกล้สระน้ำในบริเวณวัง นอกจากนี้ยังมีที่ทำการของสำนักกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มูลนิธิ “จักรพงษ์มูลนิธิ” และกิจการอื่นๆที่ท่านดูแล ที่ทำการดังกล่าวตั้งอยู่ในอาคารริมกำแพง ซึ่งเป็นอาคารบริวารของวังมาแต่เดิม ส่วนหน้าวังที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเป็นโรงแรมขนาด 3 ห้องพัก ชื่อว่า "จักรพงษ์วิลล่า"
อาคารต่างๆ ภายในวัง ที่มา : 174 มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย |
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
รูปแบบอาคารเป็นตึกแบบที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตะวันตก หรือโดเมสติกรีไววัล สไตล์ (Domestic Revival Style ) ออกแบบโดยนายแอร์โกเล มันเฟรดี ( Ercole Manfredi ) และนายเอ็ดวาร์ด ฮีลี (Edward Healey ) ภายในวังจักรพงษ์มีสถานที่ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้คือ
พระตำหนัก
เป็นตึกแบบตะวันตก ตอนหน้ามี 2 ชั้น ปีกซ้ายตอนในก่อสูง 3 ชั้น และมีหอหรือโดมอีกชั้นหนึ่ง มีมุขเพียงมุขเดียวตอนกลางอาคาร หน้าบันเจาะช่องหน้าต่าง เสาซุ้มหน้าต่างเป็นเสาเหลี่ยมมีหัวเสาและฐานเสา ผนังมุขก่อเป็นเสานูนประดับลายปูนปั้นบริเวณหัวเสาชั้นสองและใกล้ฐานชั้นล่าง ปีกซ้ายมีบันไดหินอ่อนขึ้นสู่เฉลียงหน้า เชิงบันไดตั้งปืนใหญ่ข้างละกระบอก ถัดออกไปเป็นสระบัวขอบหินอ่อน เฉลียง ชั้นล่างเป็นพนักทึบ สามเหลี่ยม เฉลียงชั้นสองประกอบด้วยราวลูกกรงโปร่ง เสาเหลี่ยมปลายหยักบานออก ซุ้มเฉลียงกั้นเป็นไม้บานเกล็ด ผนังเหนือเพดานชั้นสามเจาะช่องหน้าต่างกรอบบนโค้งกลมตีไม้เป็นช่องติดกระจกมีลายดอกเล็กๆ หอคอยใช้หลังคาทรงแหลม ผนังกรุกระจกสีทั้งสี่ด้าน หน้าต่างมุขและเหนือบันได หน้าทำกันสาดรองรับด้วยหูช้างไม้ มีการแต่งไม้เป็นลวดลายรูปวงกลมและเส้นตรงตัดกัน ปีกขวาเหนือ กรอบหน้าต่างชั้นสองประดับลายปูนปั้นทรงสี่เหลี่ยม สุดปีกหักมุมเข้าไปทางด้านหลัง มีบันไดหินอ่อน ขนาดย่อมกว่าบันไดหน้า ด้านหลังพระตำหนักก่อเฉลียงรับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาทุกชั้น เฉลียงชั้นล่างอยู่ ทางปีกขวาสร้างเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมมีบันไดทอดลงถนนตรงไปศาลาท่าน้ำ สองข้างทางเป็นสนามหญ้า ปลูกไม้ดอกเป็นระเบียบงดงาม เฉลียงชั้นสามและเฉลียงรอบหอคอยสร้างอ้อมจากด้านริมแม่น้ำหักมุมมา ตลอดด้านขวาของพระตำหนัก เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางหลวงและตัวเมืองกรุงเทพมหานครได้อย่างกว้างขวาง
พระตำหนัก วังจักรพงษ์ |
พระตำหนัก วังจักรพงษ์ ที่มา : 174 มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย |
ภายในพระตำหนักชั้นล่างห้องมุขหน้านั้นเป็นห้องทรงพระอักษร ห้องเสวย และห้องรับแขก ชั้นที่ 2 เป็นห้องนอนและห้องพักผ่อน ชั้นที่ 3 เป็นห้องนอน ภายในหอสูงเป็นทบรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พื้นห้องปูไม้สักขัดมัน มีบันไดทำด้วยไม้ ราวบันไดและลูกกรงเป็นไม้สลักลวดลาย เพดานชั้น 3 เป็นไม้สลักลายรับกับราวบันได
ศาลาริมน้ำ
ริมน้ำก่อเป็นเขื่อนคอนกรีตแข็งแรง ตอนบนก่อกำแพงเตี้ยๆ มีซุ้มอยู่ตอนบนของกำแพง ประดับด้วยลายปูนปั้นลายช่อผลไม้ เสาซุ้มทรงสี่เหลี่ยมประดับลายปูนปั้นลายเป็นลายเดียวกับลายที่สลักตรงลูกกรงบันไดภายในพระตำหนัก แนวรั้วอ้อมไปเป็นขอบของศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีหูช้าง และเชิงชายหลังคาไม้สลักลายและมีซุ้มไม้ตีเป็นช่องสี่เหลี่ยมติดกระจกลาย ศาลาท่าน้ำแห่งนี้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงใช้เป็นท่าเสด็จพระราชดำเนินมาลงเรือพระที่นั่ง และปัจจุบันเคยใช้เป็นท่าเรือสำหรับพระราชอาคันตุกะอีกด้วย
วังจักรพงษ์มีกำพงทึบล้อมรอบ ที่เสาประตูทางเข้าออกด้านริมถนนมหาราช มีตราจักรและตะบองซึ่งเป็นตราประจำตระกูลและมีอักษรจารึกว่า “ บ้านจักรพงษ์”
ซุ้มประตูวัง ที่มา : 174 มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย |
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ . กรุงเทพฯ : กรม, 2525.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.
พิชญพิทักษ์. วัง พระราชวัง พระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : หอสมุดกลาง 09, 2537