พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป
ที่ตั้ง
เลขที่ 4 ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ประวัติ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหอศิลปหรือที่เรียกกันว่าหอศิลป์ถนนเจ้าฟ้านั้น เดิมเป็นอาคารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่เศรษฐกิจคือเป็นสถานที่ผลิตเงินตรา เรียกว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ” สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2445 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงกษาปณ์สิทธิการแห่งนี้สร้างขึ้นแทนโรงกษาปณ์เดิมที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกสร้างเป็นโรกษาปณ์ที่ทันสมัยมาก เครื่องจักรต่างๆเป็นเครื่องจักรไฟฟ้าที่มาจากยุโรป สามารถผลิตเหรียญได้วันละ 80,000 – 100,000 บาท โดยได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และได้ใช้เป็นโรงกษาปณ์จนปี 2511 จึงได้ย้ายไปที่ทำการใหม่ อาคารโรงกษาปณ์จึงถูกทิ้งให้รกร้าง จนกระทั่งกรมศิลปากรมีโครงการจัดตั้งหอศิลป์แห่งชาติแต่ยังขาดสถานที่ กระทรวงการคลังจึงได้มอบอาคารและที่ดินของโรงกษาปณ์เดิมให้แก่กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารเป็นแบบนีโอปัลลาเดียนที่โค้งประดับจั่วมุข ลักษณะอาคารโดยทั่วไปก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอน สันหลังคาประดับด้วยลายลูกไม้เช่นเดียวกับเชิงชาย หลังคาทางด้านปีก
หน้าจั่วอาคารเป็นปูนปั้นรูปตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ขนาบด้วยลายพันธุ์พฤกษา หน้าต่างบริเวณมุขอาคารตกแต่งเป็นพิเศษ คือ มีหน้าต่าง 3 บาน บานกลางเป็นบานใหญ่มีซุ่มปูนปั้นเป็นรูปโค้ง เสารับซุ้มเป็นเสาเหลี่ยมปลายเสาประดับลายก้นหอย ส่วนบนขอบโค้งเป็นกรอบรูปไข่ประดับลายใบไม้ ประตูและหน้าต่างโค้ง ส่วนบนของช่องหน้าต่างเป็นช่องลมบานเกล็ด บานหน้าต่างป็นลูกฟักกระดานดุนเช่นเดียวกับบานประตู ด้านหน้ามุขมีกรอบปูนปั้นขอบประตูและหน้าต่าง บานประตูมีช่องแสงประดับกระจก
หน้าต่างด้านปีกอาคารเซาะร่องตื้นรอบส่วนโค้งหน้าต่างเลียนแบบการก่อสร้างด้วยหิน ผนังชั้นล่างเซาะร่องตามแนวขวางของอาคาร เสาไม่มีฐานและปลายเสา ตัวเสาเซาะร่องตื้นตามแนวขวาง ส่วนเสาชั้นบนเป็นเสาหลอกเช่นเดียวกันชั้นล่าง ตัวเสาเรียบแต่มีฐานและปลายเสา ซึ่งมีหลายเสาซ้อนกัน 3 ชั้น ภายในอาคารปูด้วยหินอ่อนตาหมากรุกบริเวณพื้นชั้นล่างด้านหน้ามุขและบันได ส่วนพื้นของห้อแสดงศิลปทั้งชั้นบนและชั้นล่างเป็นไม้สักเงา ผนังอาคารชั้นบนมีลวดลายประดับ
ผังของกลุ่มอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบลานโล่ง (court) เป็นที่ตั้งของถังเก็บน้ำโครงสร้างเหล็กสร้างขึ้นพร้อมกับตัวอาคาร ซึ่งมีรูปแบบที่น่าสนใจ สถาปัตยกรรมที่สง่างามของตัวอาคาร ลักษณะเด่นของอาคารคือเมื่อมองเข้าไปภายในหมู่อาคารจะเห็นลักษณะของอาคารเป็นกลุ่มกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกันเชื่อมโยงด้วยลายลูกไม้บนชายคาและสันหลังคาที่กลมกลืนกัน อีกทั้งที่ว่างภายในที่เป็นโถงโล่งกว้าง ผนังหนาทึบของโรงกษาปณ์นั้นสามารถนำมาปรับให้เหมาะสมกับการจัดแสดงงานศิลปกรรมได้เป็นอย่างดี กรมศิลปากรจึงได้จัดแสดงและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานทัศนศิลป์ร่วมสมัย เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2521
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.