ชุมชนตรอกหม้อ

ชุมชนตรอกหม้อ

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ในซอยเทศา แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับถนนบำรุงเมือง
ทิศใต้ ติดกับถนนราชบพิธ
ทิศตะวันออก ติดกับถนนตีทอง
ทิศตะวันตก ติดกับถนนเฟื่องทอง

ประวัติ
“ชุมชนตรอกหม้อ” หรือ “ชุมชนราชบพิธพัฒนา” เป็นชุมชนที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีชื่อเรียกที่รู้จักกันในตอนนั้นว่า “ ชุมชนเสาชิงช้า” เพราะเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้าข้างวัดสุทัศน์เทพวรารามนั่นเอง จากการสัมภาษณ์พบว่าในอดีตการเดินทางในย่านนี้จะมีรถรางเป็นเหมือนยานพาหนะสำคัญในการคมนาคม โดยเส้นทางของรถรางที่ผ่านชุมชนนี้คือ เส้นทางที่วิ่งจากบางลำภูถึงหัวลำโพง ซึ่งส่วนใหญ่คนในสมัยก่อนนิยมใช้โดยสารเพื่อเดินทางในย่านนี้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ต้องอาศัยรถรางไปเรียนหนังสือ  การใช้รถรางนี้ได้ยกเลิกไปประมาณ 60-70 ปี มาแล้ว ซึ่งนอกจากรถราง การเดินทางทางน้ำก็เป็นการคมนาคมอีกรูปแบบหนึ่งที่คนในชุมชนแต่ก่อนนิยมใช้กัน เพราะสภาพทั่วไปของชุมชนในสมัยนั้นมีแม่น้ำลำคลองอยู่เป็นจำนวนมาก ในส่วนของเรือที่ใช้โดยสารนั้นก็คือเรือเอี้ยมจุ๊นที่มีลักษณะเป็นเรือโดยสารขนาดเล็กที่มักใช้เดินทางตามลำคลองทั่วๆ ไป

ลักษณะการศึกษาของคนในชุมชนแถบนี้ในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีการศึกษาที่เป็นลักษณะของเตรียมอุดมที่การศึกษาขั้นสูงสุดจะเป็นระดับ ม.ศ.8 (มัธยมศึกษาปีที่ 8) ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในชุมชนบางคนที่มีฐานะค่อนข้างดีในสมัยนั้นจึงจะสามารถเล่าเรียนในระดับนี้ได้

สำหรับที่มาของชื่อ “ ตรอกหม้อ” นั้น อาจเนื่องมาจากในสมัยก่อนประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมาผู้คนในย่านนี้นิยมทำหม้อดินขายกัน บางคนก็เล่าว่า ที่เรียกว่า “ ตรอกหม้อ” เพราะเป็นที่เก็บหม้อดินที่ทำเสร็จแล้ว ก่อนจะส่งไปให้กับชุมชนบ้านหม้อไว้ขายต่อไป ซึ่งลักษณะของการทำหม้อดินนี้เป็นที่นิยมของคนจีนเป็นอย่างมาก จึงอาจแสดงให้เห็นว่า “ ชุมชนตรอกหม้อ” เป็นชุมชนที่มีกลุ่มคนจีนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้น แต่ต่อมาประมาณช่วง 70-80 ปี มาแล้ว การทำหม้อดินอาจจะเริ่มสูญหายไปเพราะคนแก่ในชุมชนท่านหนึ่งที่มีอายุ 74 ปีได้เล่าว่า ตอนที่ป้าเกิดนั้นคนในแถบนี้ส่วนใหญ่ก็ขายเครื่องบวชนาคกันแล้ว โดยคนที่ทำอาชีพนี้ก็มักจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน และด้วยความที่เป็นแหล่งที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดประเพณีหรือขนบธรรมเนียมที่คนจีนนิยมทำกันคือการไหว้เจ้า ตรุษจีน ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

ส่วนชื่อ “ ชุมชนราชบพิธพัฒนา” นั้น เริ่มใช้มาประมาณ 50 กว่าปีแล้ว โดยเป็นชื่อเรียกชุมชนที่สำนักงานเขตพระนครเป็นผู้ตั้งขึ้น ที่มาของชื่อนี้ก็เนื่องจากชุมชนแห่งนี้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดราชบพิธ อย่างไรก็ตามผู้คนก็ยังนิยมเรียกชื่อ “ ชุมชนตรอกหม้อ” มากกว่า เพราะความคุ้นเคยตั้งแต่เริ่มแรกมีชุมชนแห่งนี้นั่นเอง

อาชีพ
การค้าขายนับเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนตรอกหม้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การขายหรือทำหม้อดิน ต่อมาก็กลายเป็นการขายเครื่องบวชนาค และท้ายที่สุดคือการขายของชำ community1702และการขายของสดที่ยังนิยมทำกันอยู่ในขณะนี้ “ ตลาด” นับเป็นสถานที่หลักที่ใช้ในการประกอบอาชีพของผู้คนแถบนี้  “ ตลาดตรอกหม้อ” ( ตลาดชุมชน 2) เป็นตลาดที่ก่อตั้งมาได้ประมาณ 50 ปีแล้ว ตำแหน่งของตลาดแห่งนี้แต่เดิมจะอยู่ในส่วนด้านหลังของชุมชนตรอกหม้อ ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ตลาดของชุมชนถูกย้ายมาอยู่ด้านหน้าของชุมชน เนื่องจากมีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น ทั้งที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชน และคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภายนอกชุมชน โดยคนส่วนใหญ่มักจะสร้างบ้านอยู่ด้านหลังชุมชนอย่างหนาแน่น ทำให้ต้องโยกย้ายตลาดมาไว้ด้านหน้าของชุมชนแทน อาจกล่าวได้ว่า หลังจากที่ “ ตลาดตรอกหม้อ” เกิดขึ้นในตอนแรก ทำให้ผู้คนนิยมมาอยู่ชุมชนแห่งนี้กันมากขึ้น “ ตลาด” จึงนับเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้ โดยจะเปิดขายของทุกวัน ไม่มีวันหยุด จะเริ่มขายกันแต่เช้า และเลิกประมาณ 14.00 น.- 15.00 น. ส่วนผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของส่วนใหญ่จะมีทั้งคนในชุมชนตรอกหม้อและชุมชนใกล้เคียง

สำหรับผู้ประกอบอาชีพค้าขายในตลาดแห่งนี้ ช่วงแรกจะมีคนในชุมชนทำกินมากกว่าคนจากที่อื่นที่จะหอบของมาขายบ้าง เช่น คนในชุมชนท่าเตียน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันคนภายนอกชุมชนนิยมนำของมาขายในตลาดนี้มากกว่า เนื่องมาจาก ตลาดเริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น และการย้ายเข้ามาของคนนอกชุมชนที่เข้ามายึดอาชีพนี้กันค่อนข้างมาก คนในชุมชนในขณะนี้จึงขายของชำกันบ้างตามบ้านที่อยู่บริเวณเดียวกับตลาด บางบ้านเปิดเป็นร้านเสริมสวย และร้านขายของทั่วๆ ไป ส่วนคนที่อยู่ทางด้านหลังของชุมชน มีทั้งคนที่รับราชการ และทำงานบริษัทอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีคนในชุมชนท่านหนึ่งที่ประกอบอาชีพเก่าแก่ จากการได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในตระกูลของตนเองถึง 3 ชั่วคน นั่นคือ อาชีพ “ ขายยาแพทย์แผนไทย” คุณออระ วรโภค วัย 74 ปี เจ้าของร้านขายยา “ บำรุงชาติสาสนายาไทย” โดยแต่เดิมคุณป้ารับราชการก่อนที่จะมารับช่วงกิจการร้านขายยาต่อจากคุณตาที่เสียชีวิตลงแล้ว

ในอดีต ร้านขายยาแห่งนี้ขายยาแพทย์แผนไทยประเภทยาเด็ก ยาลมประเภทต่างๆ และยาระบาย ในตอนนี้ขายเพียงอย่างเดียวคือ ยาลม เนื่องจากความนิยมซื้อยาของผู้คนเริ่มน้อยลง ประกอบกับความชราของคุณป้าที่ทำให้กำลังในการทำงานลดน้อยลงไป ซึ่งผู้ซื้อนั้นโดยมากมักจะเป็นผู้ที่เคยใช้แล้วชอบ จึงนิยมกลับมาซื้ออีกจนกลายเป็นลูกค้าประจำ ซึ่งเมื่อมีลูกค้าสั่งเท่านั้น จึงจะมีการทำยาโดยคุณป้ากับลูกหลานบางคนในบ้านช่วยกันทำขึ้นเอง กรรมวิธีการทำจะเป็นแบบโบราณทั้งเครื่องมือ และวิธีการทำให้กลายเป็นยาเม็ด รวมไปถึงการปิดทองยา ที่แสดงถึงรูปแบบเฉพาะของยาแพทย์แผนไทยอีกด้วย นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของชุมชนตรอกหม้อแห่งนี้

community1703ลักษณะทางสถาปัตยกรรม (ตึกเก่าย่านชุมชนราชบพิธ 3)
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจของชุมชนแห่งนี้คือ “ บ้านเรือน” ซึ่งบางบ้านที่เก่าแก่นั้นมีอายุถึง 100 กว่าปี ลักษณะของบ้านที่ในอดีตนิยมสร้างกันคือ บ้านไม้ 2 ชั้น ต่อมาประมาณ 50 ปีมาแล้ว มีบ้านบางหลังได้ถูกรื้อไปเพื่อสร้างเป็นบ้านไม้ขึ้นใหม่ เนื่องจากทรุดโทรมเป็นอันมาก ในปัจจุบัน บ้านส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นอาคารพาณิชย์บ้างทางด้านหน้าของชุมชนที่ติดกับถนนใหญ่ และในบริเวณตลาด มีบางบ้านที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ แต่ก็มีการต่อเติมเพิ่มมากขึ้น จนบางหลังไม่หลงเหลือเค้าเดิมอีกแล้ว ส่วนด้านหลังของชุมชน พบว่าเป็นบ้านปูนส่วนมาก มีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบ้านไม้ 3-4 หลังที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ได้

ถึงแม้ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ในชุมชนตรอกหม้อก็ยังมีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่คงสถาปัตยกรรมที่งดงามของบ้านไว้ได้ แต่มีการปรับปรุงบ้างเพื่อป้องกันการทรุดโทรมของตัวบ้าน “ บำรุงชาติสาสนายาไทย” เป็นร้านที่ขายยามากว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว โดยบ้านหลังนี้ได้เริ่มประกอบกิจการขายยามาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างบ้านขึ้นในปี พ. ศ.2467 นับว่าเป็นบ้านที่มีอายุกว่า 80 ปี รูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านเป็นลักษณะแบบบ้านตะวันตก ในตอนแรกจะมีแค่ชั้นเดียว แต่ช่วงหลังได้รับการต่อเติมขึ้นเป็น 2 ชั้น และถูกทาสีใหม่เพื่อคงความงามของบ้านหลังนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นต่อๆ ไป นอกจาก “ บ้านเรือน” บริเวณโดยรอบของชุมชนยังมี “ วัด” เป็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจให้ชมถึง 3 แห่งด้วยกันคือ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดราชบพิธ และวัดมหรรณพาราม

 

สัมภาษณ์
คุณออระ วรโภค อายุ 74 ปี วันที่ 26 กรกฎาคม 2547.
คุณลัดดา วิจิตรจันทร์ อายุ 32 ปี วันที่ 26 กรกฎาคม 2547.
คุณไซ้ยู้ แซ่อึ้ง อายุ 72 ปี วันที่ 26 กรกฎาคม 2547.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com