ชุมชนข้างเรือนจำ
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเล่าว่า ชุมชนข้างเรือนจำ เดิมทีเป็นวังของเชื้อพระวงศ์ซึ่งพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำ
เรือนจำนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ให้จัดซื้อ แล้วมีพระบรมราชโองการให้ก่อสร้างเรือนจำ จนในปีพุทธศักราช 2432 จึงก่อสร้างเสร็จสิ้น และสามารถย้ายนักโทษเข้าไปอยู่อาศัยได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ในปีเดียวกันนี้และได้รับการขนานนามว่า “ คุกกองมหันตโทษ” และได้มีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง ครั้งหลังสุดเรียกว่า “ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขนเดิม ที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร เพื่อรับผู้ต้องขังทั้งหมดที่ย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโครงการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นสวนสาธารณะ
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2534 กรมราชทัณฑ์ได้ทยอยย้ายผู้ขังเสร็จสิ้นในปี พ.ศ . 2535 สำหรับการก่อสร้างกรมโยธาธิการได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบ โดยมีอธิบดีกรมโยธาธิการ เป็นประธานก่อสร้าง และกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร จำนวน 72 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนรมณีนาถ” มีความหมายว่าสวนแห่งพระนางผู้เป็นที่พึ่ง ต่อมาได้มีการรื้อวังของเชื้อพระวงศ์องค์นี้ออกไปแล้วได้สร้างตึกแถวให้เช่าแทน โดยผู้ที่มาอยู่เป็นส่วนมากคือคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ กำแพงของวังเดิมนี้นี่เอง ซึ่งตึกแถวเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้ ส่วนพื้นที่ของวังเดิมนั้นดูได้จากแนวของตึกแถวตั้งแต่ร้านนายเหมือนจนถึงร้านยุพดีพาณิช
คนในชุมชนข้างเรือนจำนี้ ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายเครื่องจักรสาน เก้าอี้หวาย โต๊ะหมู่บูชาและศาลพระภูมิที่ทำจากไม้มานานกว่า 100 ปี ซึ่งแต่ก่อนนั้นถนนหน้าชุมชนข้างเรือนจำนี้ รู้จักกันในชื่อ “ ถนนเครื่องหวาย” เวลาที่มีงานประจำปีของวัดสระเกศหรืองานภูเขาทอง เครื่องหวายในชุมชนข้างเรือนจำนี้จะขายดีมากจน ทำแทบไม่ทัน เพราะผู้ที่มาเที่ยวที่งานภูเขาทองต่างก็มาซื้อเครื่องหวายที่ทำกันในชุมชนนี้กลับบ้านไปแทบทั้งนั้น เพราะเครื่องหวายของที่นี่ถือได้ว่าเป็นได้ทั้งของใช้สอยภายในบ้านและสามารถเป็นของฝากได้ด้วย
ปัจจุบันร้านที่ยังขายเครื่องจักรสานและศาลพระภูมิไม้เหลืออยู่เพียง 3 ร้าน คือ ร้านนายเหมือน ร้านสุริยาพาณิช และร้านยุพดีวานิช ร้านทั้งสามนี้ก็ยังคงทำการค้าขายเครื่องจักสานและศาลพระภูมิไม้ที่เป็นงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม เพียงแต่ย้ายที่ผลิตไปยังต่างจังหวัดแล้วนำมาขายที่ร้าน
ในชุมชนข้างเรือนจำนี้ เพราะเป็นที่รู้จักกันดีของลูกค้าว่าเป็นย่านเก่าที่ค้าขายเครื่องจักสานที่มีคุณภาพที่เปิดร้านค้าขายทุกวัน ตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปจนถึง 6 โมงเย็น ยกเว้นวันอาทิตย์ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เจ้าของร้านยุพดีวานิชเล่าว่าเดิมทีผู้ที่มาอาศัยตึกแถวบริเวณนี้เป็นคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานเข้านานตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คนในชุมนี้ประกอบอาชีพค้าขายเครื่องจักรสานและศาลพระภูมิไม้ที่ทำเองในบ้านแทบทั้งนั้น ภายหลังบางบ้านได้ย้ายออกไปทำกันที่อื่นบ้าง บางบ้านก็หันไปประกอบอาชีพค้าขายอย่างอื่นบ้างจนเหลือกันอยู่เพียงเท่านี้
แต่เดิมบริเวณแถวชุมชนข้างเรือนจำและวัดสะเกศหรือภูเขาทองนี้ ถูกเรียกว่า “ ประตูผี” เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แล้วมีการขนย้ายศพเหล่านี้มาไว้รวมกันในบริเวณที่กล่าวถึงนี้ เพื่อรอเข้าไปทำพิธีเผาศพภายในวัดสะเกศ ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อถนนมหาไชย
การคมนาคมของคนในชุมชนนั้นเดิมทีใช้รถรางรอบเมืองที่วิ่งผ่านถนนมหาไชยหน้าชุมชน แต่เมื่อมีการยกเลิกการใช้รถรางแล้วก็เปลี่ยนมาใช้รถเมล์แทน ซึ่งสายรถเมล์ที่วิ่งผ่านชุมชนข้างเรือนจำนั้นมีอยู่ 3 สาย คือ สาย 5, 35 และ 56
นอกจากนี้คนในชุมชนนี้มีความเชื่อและทำการสักการะต้นโพธิ์ต้นหนึ่งซึ่งอยู่หน้าร้านนายเหมือน เป็นต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีมานานตั้งแต่ก่อนมีการสร้างตึกแถวให้เช่า หลังจากที่มีการสร้างตึกแถวแล้วก็ไม่มีใครกล้าตัดหรือย้ายต้นโพธิ์ มีเพียงการก่อสร้างล้อมต้นโพธิ์ไว้เท่านั้น ซึ่งบริเวณโคนต้นโพธิ์นั้นมองดูคล้ายหัวช้างทำให้คนในชุมชนเชื่อว่ามีช้างมาสิงอยู่ เลยมีการเอารูปปั้นช้างมาสักการะ พร้อมทั้งขนมนมเนยต่าง ๆ ตามสะดวก ซึ่งต้นโพธิ์นี้คนในชุมชนไหว้กันมานานถึง 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีใครมาบนบานศาลกล่าวเพียงแต่มาไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองก็เท่านั้น
หมายเหตุ
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านนายเหมือน วันที่ 8 สิงหาคม 2547 และเจ้าของร้านยุพดี วันที่ 8 สิงหาคม 2547