พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ตั้งอยู่บนถนนหน้าพระธาตุ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งวันหน้าหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต และโปรดเกล้า ฯ ให้เขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหาร เขตวังชั้นกลางจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเขตพระราชวังชั้นในเป็นพระราชวังดังเดิม รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่พระพิมานและพระราชมณเฑียรชั้นในที่เคยเป็นที่อยู่ของเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าให้เป็นโรงทหารและย้ายโรงราชรถมาสร้างขึ้นที่ด้านหน้า รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทร์และพระราชทานที่ทั้งบริเวณให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท
ชื่อราชการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ที่ตั้ง ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด โรงละครแห่งชาติและวิทยาลัยนาฏศิลป์
ทิศใต้ จรด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทิศตะวันออก จรด ถนนหน้าพระธาตุ
ทิศตะวันตก จรด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เป็นอาคารไทย ขนาดใหญ่ไม่ยกพื้น หน้าบันไม้แกะสลักสวยงามประดับช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ ก่ออิฐถือปูนไม่ยกพื้นหลังคาทรงไทยชั้นเดียว มี 4 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบมีมุขหน้า หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักลวดลายพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ล้อมรอบด้วยลายก้านขด และครุฑ หน้าบันด้านหลังเป็นไม้แกะสลักเช่นกัน ลวดลายพระพรหมทรงหงส์เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด
พระที่นั่งพุทไธศวรรย์
พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ลักษณะเด่นอยู่ที่ลวดลายหน้าบันวิจิตรบรรจงและด้านหน้าพระที่นั่งมีรูปปั้นพระนารายณ์ที่งดงามทั้งสนามหญ้ากว้างด้านหน้าพระที่นั่งช่วยส่งเสริมพระที่นั่งให้เด่นยิ่งขึ้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 2 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก ลายพระพรหมประทับอยู่ภายในวิมาน ลายต่ำลงมาเป็นปูนปั้นดอกบัวลงสีอย่างสวยงาม บริเวณคอสองเป็นลายปูนปั้นดอกพุตาน ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น ซ้อน 2 ชั้น ประดับกระจกสีปิดทองบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำลวดลายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ขนาบข้างด้วยลายมังกร มีนกกัณฑมานวกหุ้มดีบุกเป็นศิลปแบบอยุธยา ปัจจุบันตั้งประดับอยู่ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นอาคารแบบตะวันตกในยุคแรก ๆ ซึ่งยังมีผสมแบบไทย ๆ อยู่มาก แต่ก็มีลักษณะที่กลมกลืนสวยงาม ก่ออิฐถือปูนมี 2 ชั้น เป็นตึกแบบตะวันตก มีจั่วของอาคารเป็นลายปูนปั้น พานรับพระขรรค์ และอุณาโลมล้อมรอบพวงมาลา
พระที่นั่งเอกอลงกฎ
พระที่นั่งเอกอลงกฎเป็นพระที่นั่งโถงหลังเล็กทรวดทรงงดงาม การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในงดงามมาก ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายเทพนมประดับกระจกสีเพดานมีลายดาวเพดาน สภาพชำรุดเลือนรางมาก บริเวณคอสองและเสาภายในพระที่นั่งมีลายดอกไม้ร่วง แมลงปอ นก ผึ้ง ตั๊กแตน ค้างคาว และผีเสื้อ เป็นต้น
หมู่พระวิมานเดิม
หมู่พระวิมานเดิมเป็นหมู่อาคารทรงไทยหลังคามุงกระเบื้องดินเผา 3 หลังและมุขอีก 6 มุขเชื่อมต่อกันอย่างกลมกลืนสวยงาม และมากด้วยประโยชน์ใช้สอย แสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างของช่างไทยในการวางแผนผังอาคาร มุงกระเบื้อง ก่ออิฐถือปูนหลังคาชั้นเดียว
พระตำหนักแดง
พระตำหนักแดงเป็นตำหนักไม้ หลังย่อม ยกพื้นเล็กน้อยฝาปะกน ภายในเครื่องไม้ทั้งสิ้น มีความงดงามและได้บรรยากาศแบบไทยแท้ ๆ หลังคาทรงไทย หน้าจั่วเป็นแบบพรหมพักตร์ ฝาปะกนบริเวณใต้หน้าต่างเป็นลายฉลุไม้ เครื่องบนเป็นไม้
ศาลาลงสรง
ศาลาลงสรงรูปทรงได้สัดส่วนและส่วนประดับตกแต่งสวยงาม เรือนไม้หลังคาทรงจตุรมุข หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลวดลายไทยปิดทอง ปัจจุบันเป็นฝากระจกทั้ง 4 ด้าน
โรงราชรถ
โรงราชรถมีความงามอยู่ที่ลวดลายแกะสลักบนหลังคาตามแนวจั่วและการทำแนวปูนเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมตามตัวอาคารเป็นการลดความสูงและแข็งของอาคารไปได้มาก อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียว เป็นอาคารแบบสมัยใหม่หลังคาจั่วธรรมดา ส่วนที่เป็นหางหงส์ทำเป็นหัวพญานาค แกะสลักด้วยไม้ ใต้หน้าจั่วเป็นประตูขนาดสูงใหญ่เกือบถึงหลังคา เพราะใช้ปิดเปิดสำหรับให้ราชรถเข้าออก
เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร
เก๋งจีนนุกิจราชบริหารมีความสวยงามอยู่ที่ลวดลายไม้แกะสลักที่บานประตูด้านหน้าทั้ง 4 บานเป็นลายแจกันแบบจีน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่ออิฐถือปูน สร้างตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน ลวดลายที่ตกแต่งบานประตูและสันหลังคาที่ลายกระบวนจีนทั้งสิ้น เช่น ลายมังกร ลายแจกันดอกไม้แบบจีน เป็นต้น
พระที่นั่งสำราญมุขมาตย์
พระที่นั่งสำราญมุขมาตย์มีลักษณะเด่นที่การประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ด้วยลวดลายไม้แกะสลักละเอียดยิบไปทั้งหลัง รวมทั้งเสาและฝ้าเพดานก็ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองและปิดทองล่องชาดประณีตสวยงามเช่นกัน จึงทำให้พระที่นั่งหลังเล็กนี้มีคุณค่าและงามโดดเด่นมาก หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายเทพพนม ส่วนบนของหน้าบันเป็นแบบจั่วพรหมพักตร์ มีลายไม้ฉลุระหว่างช่วงเสาต่อเสา บริเวณคอสองเป็นไม้ฉลุลาย และลายพวงมาลัยซึ่งเป็นลายทองบนพื้นชาดเพดาน มีลายดาวเพดานเป็นลายทองเช่นเดียวกัน
ตึกดำรงราชานุภาพ
ตึกดำรงราชานุภาพเป็นอาคารตึกสมัยใหม่ หลังคาแบบทรงไทยประยุกต์ อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น แบบสมัยใหม่ หลังคาประยุกต์มาจากทรงไทยคือ 2 ชั้น หลังคาประดับหางหงส์ (คอนกรีต) ไม่มีช่อฟ้าใบระกาเชิงชายค้ำยันด้วยคันทวย (คอนกรีตประดับลายก้านขดประยุกต์ หน้าจั่วเรียบไม่มีลวดลายประดับ)
ตึกมหาสุรสิงหนาท
ตึกมหาสุรสิงหนาทอาคารรูปตัวแอล (L) สูง 2 ชั้นแบบสมัยใหม่ หลังคาประยุกต์มาจากทรงไทยคือ 2 ชั้น มีหางหงส์คอนกรีตประดับ ไม่มีช่อฟ้า เชิงชายค้ำยันด้วยคันทวย คอนกรีตประดับลาย ก้านขดประยุกต์ หน้าจั่วเจาะเป็นร่องรูปสามเหลี่ยม และห้าเหี่ยมหลังคาเจาะให้โปร่งแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อให้ภายในอาคารสว่าง
ตึกประพาสพิพิธภัณฑ์
ตึกประพาสพิพิธภัณฑ์เป็นตึก 2 ชั้น แบบสมัยใหม่ หลังคาทรงไทยประยุกต์ อาคารเป็นรูปตัวแอล (L) สูง 2 ชั้นแบบสมัยใหม่ หลังคาประยุกต์มาจากทรงไทย คือ 2 ชั้นมีหางหงส์คอนกรีตประดับ ไม่มีช่อฟ้าเชิงชายค้ำยันด้วยคันทวยคอนกรีต ประดับลายก้านขดประยุกต์ หน้าจั่วเจาะเป็นร่องรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และห้าเหลี่ยม หลังคาเจาะให้โปร่งแสง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อให้ภายในอาคารสว่าง
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.