อาคารที่สำคัญในเขตพระราชฐานชั้นกลาง
ในบริเวณพระราชฐานชั้นกลางนี้ นอกจากพระที่นั่งและพระราชมณเฑียรต่างๆแล้ว ยังมีอาคารที่ทำการอีกหลายหลัง คือ
1.ตึกหลังตะวันตก
ตึกหลังตะวันตก ข้างประตูพิมานไชยศรีตรงกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มี 2 อาคาร เดิมเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาน ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักราชเลขาธิการ
2.ตึกหลังตะวันออก
ตึกหลังตะวันออก ข้างประตูพิมานไชยศรี ตรงกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มี 2 อาคาร เดิมเป็นศาลาว่าการกระทรวงวัง ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักพระราชวัง
3.หอราชพิธีกรรม
หอราชพิธีกรรม ตรงกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกองมหาดเล็ก
4.ศาลาอัตถวิจารณ์
ศาลาอัตถวิจารณ์ อยู่ด้านตะวันตกข้างกับประตูศรีสุนทร
5.หอธรรมสังเวช
หอธรรมสังเวช อยู่ทางด้านตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นที่ไว้พระศพพระบรมวงศ์ฝ่ายใน
6.หออุเทศทักษิณา และหอนิเพทพิทยา
หออุเทศทักษิณา และหอนิเพทพิทยา สำหรับไว้พระศพพระบรมวงศ์ฝ่ายใน
อาคารที่สำคัญในเขตพระราชฐานชั้นนอก
มีอาคารที่สำคัญ คือ
1.โรงทหารรักษาพระองค์
โรงทหารรักษาพระองค์ เดิมในรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างโรงเรียนสำหรับทหารรักษาพระองค์ ตรงริมประตูพิมานเทเวศร์และประตูวิเศษไชยศรี ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 โปรดให้รื้อและสร้างเป็นตึก 2 ชั้น ให้ทหารมหาดเล็กอยู่ ขณะกำลังสร้างตึกนั้นเป็นเวลาที่กำลังจัดพระคลังมหาสมบัติ จึงพระราชทานตึกใหม่ให้เป็นที่ทำการเรียกว่า “ หอรัษฎากรพิพัฒน์” ต่อมาได้เป็นที่ว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ปัจจุบันเป็นที่ทำการกระทรวงการคลัง
2.ศาลา สหทัยสมาคม
ศาลา สหทัยสมาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2413 เพื่อเป็นสโมสรทหารมหาดเล็ก เรียกว่า “ หอคองคอเดีย” ในพุทธศักราช 2417 โปรดให้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เรียกว่า “ มิวเซียม” ถึงพุทธศักราช 2448 โปรดให้จัดอาคารส่วนหนึ่งเป็นหอสมุด พระราชทานนามว่า “ หอสมุดวชิรญาณ” พุทธศักราช 2459 หอสมุดวชิรญาณย้ายไปอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุ ถนนหน้าพระธาตุ หอคองคอเดียจึงว่างมานาน ถึงรัชกาลที่ 7 จึงโปรดให้แก้ไขเป็นที่สำหรับพระราชทานเลี้ยงในงานสโมสรสันนิบาต พระราชทานนามว่า “ ศาลาสหทัยสมาคม”
ศาลาสหทัยสมาคม (อดีต )
ที่มา : หนังสือจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์
ที่ตั้งศาลาสหทัยสมาคม
ที่มา : หนังสือจดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์
ถนนในเขตพระบรมหาราชวัง
มีถนนสายใหญ่ ที่สำคัญ คือ
1.ถนนเขื่อนขันธ์นิเวศน์ เป็นถนนภายในกำแพงรอบพระบรมมหาราชวัง
2.ถนนอมรวิถี เป็นถนนต่อจากถนนเขื่อนขันธ์นิเวศน์ จากทิศตะวันตกถึงทิศตะวันออก
3.ถนนจักรีจรัล เป็นถนนต่อจากถนนอมรวิถีไปทางใต้ถึงประตูวิเศษไชยศรี