วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ที่ตั้ง
เลขที่ 70 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพ
อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ราชดำเนินกลาง
ทิศใต้ จรด คลองวัดเทพธิดาราม
ทิศตะวันออก จรด ถนนมหาไชย
ทิศตะวันตก จรด ถนนซอยวัดราชนัดดาราม ถนนบ้านดินสอ
ประวัติ
วัดราชนัดดารามวรวิหารเป็นพระอารามชั้นตรีชนิดวรวิหาร พระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีองค์แรกของรัชกาลที่ 4 มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีบรมราชเทวี) จึงทรงพระราชทานนามว่าวัดราชนัดดาราม เมื่อ ปี พ.ศ.2386
วัดนี้จัดว่าสวยงามโดยช่างผู้ชำนาญในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยทรงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (บุญนาค) เป็นผู้ออกแบบแผนผังการสร้างวัด กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโลหะปราสาท พระยามหาโยธาเป็นผู้สร้างกุฏิสงฆ์ พร้อมทั้งกำแพงและเขื่อนรอบ ๆ วัด โลหะปราสาทนี้หลังจากสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว ยังไม่แล้วเสร็จ คงมีแต่โครงเหล็กและศิลาแลงเพียงเท่านั้น แต่จากห้องกลางมีบันไดเวียนไปจนถึงชั้นบน เข้าใจว่ามีการปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยประสงค์จะทำให้ขึ้นไปจนถึงชั้นบนของปราสาท ส่วนชั้นล่างคงปล่อยไว้ให้ค้างตามเดิม รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างต่อจนเสร็จ แต่ก็เกือบจะทำลายแบบแผนที่แท้จริงของโลหะปราสาทสมัยรัชกาลที่ 3 ไปหมด ต่อมาได้มีการซ่อมแซมวัดราชนัดดาอีกครั้งหนึ่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยได้พยายามรักษาแบบแผนเดิมของโลหะปราสาทสมัยรัชกาลที่ 3 ให้มากที่สุด
สภาพปัจจุบัน หลังจากได้รื้อโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยลงแล้ว ความงดงามของวัดราชนัดดาก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นทัศนียภาพที่งดงามแต่ไกล ภายในวัดปูชนียสถานต่าง ๆ ได้รับการซ่อมบูรณะไปเมื่อปี 2531-2532 พระอุโบสถบูรณะเสร็จเรียบร้อยในปี 2531 เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ทั้งหลัง คือ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ซ่อมเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาใหม่ ผนังถือปูนใหม่ ซ่อมซุ้มประตูลงรักปิดทองใหม่ซ่อมพื้นฝ้าเพดานและอื่น ๆ อีก
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
พระอุโบสถ
ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินและสีเหลือง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่ชั้นลด หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกัน คือหน้าบันสลักไม้ลายใบเทศ มีการออกลายให้มีความสัมพันธ์กันภายในกรอบสามเหลี่ยมหน้าบัน โดยใช้ดอกลายเป็นตัวเชื่อม ส่วนล่างหน้าบันสลักเป็นลายกระจังปฏิญาณ ลายประจำยามก้ามปู และลายกระจังรวน การทำหน้าบันสลักไม้ในสมัยรัชกาลที่ 3 มักสลักเป็นภาพนูนต่ำ ลงรักปิดทองกระจกสี ประดับกระจกสี ปิดทองบานประตู หน้าต่าง ด้านนอกเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ กลางดอกลายเทพพนม บานประตูหน้าต่างด้านในและส่วนลึกของช่องประตูเป็นภาพเขียนสีลายทวารบาล ส่วนลึกของบานหน้าต่างเป็นภาพรามเกียรติ์และอดีตชาติของพระพุทธเจ้า บานหน้าต่างด้านในเป็นรูปเทพต่าง ๆ ฐานพระอุโบสถยกพื้น 2 ชั้น ฐานชั้นแรกตั้งเสาระเบียงรองรับเชิงชายหน้าจั่วและหลังคา เสาเป็นเสาเหลี่ยมลบมุมไม่มีลวดลายที่ปลายเสา มีระเบียงรอบพระอุโบสถ ปลายเสาบันไดประดับด้วยสิงโตหิน ภายในพระอุโบสถมีดาวเพดานเขียนสี ฝาผนังตรงข้ามพระประธานมีรูปเหมือนของเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ส่วนบนของภาพนี้เป็นภาพแสดงนรกภูมิ ส่วนฝาผนังอีก 3 ด้าน เป็นภาพแดนสวรรค์และภาพเทพชุมนุม ภาพเหล่านี้เขียนด้วยสีฝุ่นทำให้ชำรุดลบเลือนได้ง่าย
พระวิหาร
เป็นอาคารทรงโรง สูงใหญ่ขนาดไล่เลี่ยกับพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ด หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกันคือ ลายดอกพุดตาน ประดับด้วยกระจกสีปิดทอง เช่นเดียวกับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นดอกพุดตานปิดทองที่ดอกลาย บานประตูหน้าต่างมีภาพเขียนสี ฐาน 2 ชั้น ภายในมีภาพเขียนที่เพดานและผนัง เพดานมีลายดาวและผีเสื้อ ฝาผนังมีลายเขียนสีดอกไม้ร่วง เช่น ดอกพุดตาน ดอกลำดวน เป็นต้น ฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูปเป็นภาพนูนต่ำลายช้างสามเศียรแบกวิมาน ภายในวิมานมีพระพุทธรูป 3 องค์ ปางประทานพร 1 องค์ และปางสมาธิ 2 องค์ ปิดทองที่ลวดลาย ลายวิมานนี้เป็นเครื่องหมายประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ลวดลายเขียนสีของฝาผนังด้านนี้เป็นลายเครือเถาดอกพุดตาน บริเวณคอสองเป็นลายพวงมาลัย เสาเหลี่ยมลบมุมไม่มีลวดลายที่ลายเสา มีระเบียงรอบพระวิหาร กำแพงรอบพระวิหารประดับด้วยกระเบื้องปรุ เช่น ลายประจำยาม ลายภายในวงกลม เป็นต้น ฐานพระวิหารเป็นฐานสิงห์
ศาลาการเปรียญ
อยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถด้านถนนราชดำเนิน ลักษณะอาคารสูงใหญ่เช่นเดียวกับพระวิหาร ก่ออิบถือปูน หลังคามุงกระเบื้องลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างเขียนลายปูนปั้นปิดทอง ฐาน 2 ชั้น ภายในมีภาพเขียนสีที่เพดานและผนัง ผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง ได้นำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวลักษณะเดียวกับพระบรมรูปหล่อในปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปั้นหล่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขนาดเท่าพระองค์จริงลงรักปิดทองประทับยืนอยู่ด้านหน้า ตอนในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอู่ทองตอนต้นจัดเป็นพระพุทธรูปที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
กำแพงแก้วและศาลาราย
กำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหารเป็นกำแพงชั้นนอกและกำแพงแก้วชั้นใน กำแพงด้านนอกมีลักษณะอย่างกำแพงเมือง ด้านหน้าวัดจะสร้างศาลาขนาดใหญ่ มีบันไดทางด้านขึ้นสู่ศาลาซ้ายและขวา ด้านในวัดขนาบประตูเข้าวัดข้างละ 1 หลัง ก่ออิฐถือปูนเป็นทรงไทย ลักษณะของสถาปัตยกรรมแสดงให้เห็นเป็นปราการที่มั่งคงแข็งแรง ตั้งประจันหน้ากำแพงเมืองและป้อมมหากาฬที่อยู่ถัดออกไป เสาศาลาบนกำแพงแต่ละต้นมีขนาดใหญ่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา รับกับสถาปัตยกรรมภายในวัดที่มีขนาดใหญ่โอฬารทั้งสิ้น
โลหะปราสาท
รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2389 ได้รับการยกย่องว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก แห่งแรกอยู่ในประเทศอินเดีย แห่งที่ 2 อยู่ในประเทศศรีลังกา ทั้งสองแห่งได้ถูกทำลายไปแล้ว ปัจจุบันเหลืออยู่ ณ วัดราชนัดดาราวรวิหารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โลหะปราสาทนี้จำลองมาจากประเทศลังกา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสตามโลหะปราสาทที่เมืองลังกา ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบศิลปกรรมไทย เป็นอาคาร 7 ชั้น ลดลั่นกันขึ้นไป อาคารชั้นล่าง ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 เป็นคูหาและระเบียงรอบ ส่วนชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และ ชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ รวมเป็น 37 ยอด การขึ้นสู่ปราสาทแต่ละชั้น จะมีบันไดวนตั้งอยู่ตรงกลางโลหะปราสาท โดยใช้ซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันไดตั้งแต่พื้นล่างตลอดจนถึงชั้นบน นับแต่ขั้นบันไดจนรอบต้นซุงได้ 67 ขั้น
หอระฆัง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ลักษณะศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3
เขาพระฉาย
พระฉายสร้างบนเขามอ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ริมคลองวัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นรูปปูนปั้นนูนสูงองค์พระพุทธเจ้าและพระสาวก
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
ปิยมาศ สุขพลับพลา. การศึกษาเปรียบเทีบยสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรววิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.