ชุมชนโบสถ์พราหมณ์

ชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ในแขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ชุมชนโบสถ์พราหมณ์นี้ อาศัยอยู่บริเวณที่ตั้งของโบสถ์พราหมณ์หรือเทวสถาน รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานขึ้นพร้อมกับเสาชิงช้าเมื่อปี พ.ศ. 2327 ตามอย่างประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเทวาลัยอยู่ใจกลางเมือง เช่น พิมาย นครวัด นครธม สาเหตุที่สร้างก็เนื่องจากว่ามีพรามหณ์นาฬิวันชาวเมืองสุโขทัยชื่อพระครูสิทธิชัย (กระต่าย) นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่าในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย อันเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ที่มีมาช้านาน ตั้งแต่โบราณกาลจำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้า ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งจะสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาชิงช้า เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมืองทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ ย้ายมาตั้งหน้าวัดสุทัศน์อย่างในปัจจุบัน เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สัก เพื่อซ่อมแซมเสาชิงช้าที่ชำรุดทรุดโทรมและสร้างใหม่เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 และต่อมาใน พ.ศ. 2490 เกิดไฟไหม้เสาชำรุดเสียหายมาก ดังนั้นในพ.ศ. 2513 จึงมีการเปลี่ยนเสาใหม่โดยคงลักษณะเดิมทุกประการ การซ่อมแซมครั้งนั้นสำเร็จเรียบร้อยในพ.ศ. 2515

เทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์เป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ที่เคยใช้ในพิธีโล้ชิงช้าโดยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจะทำกันในเดือนอ้าย (ธ.ค.) ครั้งเมื่อถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (ม.ค.) เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู เสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่หรือเดือนอ้ายและเสด็จกลับวันแรม 1 ค่ำ เป็นเวลา 10 วันด้วยกัน ระหว่างที่เสด็จอยู่ในโลกพราหมณ์ต้องทำพิธีต้อนรับเรียกว่าพิธีตรียัมปวาย ด้วยการบูชาพระอิศวรด้วยเครื่องสังเวย มีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี  เทวดาเหล่านี้พราหมณ์จะแกะเป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่น เมื่อทำการบูชาในเทวสถานแล้ว จะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาที่มีพระยายืนชิงช้าจะมานั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุมที่สมมติเป็นองค์พระอิศวรคือขุนนางชั้นพระยาพานทอง ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ พระราชพิธีตรียัมปวาย ทำที่เทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้าและนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์ ดังนั้นจึงมีขบวนแห่ไปที่เสาชิงช้าซึ่งพราหมณ์ 4 คน จะขึ้นโล้ชิงช้า รวม 3 กระดานเป็น 12 คน จะมีเสาไม้ไผ่ที่ปลายผูกถุงเงินไว้กระดานแรก 3 ตำลึง กระดานที่สอง 10 บาท และกระดานที่สาม 2 ตำลึง เมื่อนาลิวันขึ้นนั่งบนกระดานแล้วถวายบังคม จากนั้นนั่งโล้จนชิงช้าโยนแรงจึงลุกขึ้นยืน พราหมณ์คนหน้าคอยคาบเงิน แล้วพราหมณ์คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน เมื่อโล้เสร็จ 3 กระดาน พราหมณ์นาลิวันทั้ง 12 คน จะไปรำเขนงสาดน้ำกันจนครบ 3 เขนง ณ บริเวณใกล้ปะรำที่พระยายืนชิงช้านั่ง เมื่อเสร็จแล้วตั้งกระบวนแห่กลับ การโล้ชิงช้ากระทำ 2 วัน คือเช้าของวันขึ้น 7 ค่ำ และเย็นของวันขึ้น 9 ค่ำ อันชาวบ้านจำขึ้นใจว่า “ เจ็ดค่ำถีบเช้าเก้าค่ำถีบเย็น”

ชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์          ชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์

สภาพทั่วไป
ชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์นี้ เดิมเป็นแหล่งเสื่อมโทรมมีสลัมอยู่มากมาย ภายหลังทางเทศบาลนครกรุงเทพในสมัยนั้นได้ตัดถนนจากตรอกซอกซอยออกเป็นถนนกว้างขวาง แหล่งดังกล่าวก็หมดไป บัดนี้กลายเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ จะมีบ้านหลังเล็กอยู่ประปราย ภายหลังจากทางราชการได้กำจัดแหล่งเสื่อมโทรมในอดีตได้แล้ว สภาพของชุมชนเป็นชุมชนใหม่ที่มีกลุ่มคนอาชีพใหม่ ๆ เข้ามาอาศัย อาทิ พ่อค้า นักธุรกิจ และคนรับจ้างทั่วไป

อาชีพ
ส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย ทำเครื่องเงิน และทำรองเท้าเป็นจำนวนรองลงมา ชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์ จัดได้ว่าเป็นแหล่งประดิษฐ์พระพุทธรูปขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายบูชา และเป็นแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์อีกด้วย

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com