วัดบวรนิเวศวิหาร

 ที่ตั้ง
เลขที่ 248 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ถนนพระสุเมรุ
ทิศใต้ จรด บ้านพักอาศัยและโรงเรียนสตรีวิทยา
ทิศตะวันออก จรด ถนนบวรนิเวศ
ทิศตะวันตก จรด ถนนประชาธิปไตย

ประวัติ
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ด้านถนนตะนาว ขณะนี้ในกำแพงพระนคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ ในรัชกาลนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2367 และ พ.ศ. 2375 ปีระหว่างอุปราชภิเษกและสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้าองค์นั้นใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2366 ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงเห็นว่าทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมา เดิมเรียกว่า “คณะรังษี”

วัดนี้เดิมเรียกว่า วัดใหม่ อยู่ในเขตฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล  ต่อมาเมื่อในปีพ.ศ. 2375 สมเด็จพระบวรราชเจ้าองค์นี้เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระประสงค์แต่งตั้งให้เจ้าฟ้ามงกุฎ อยู่ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงผนวชอยู่ จึงต้องทำโดยทางอ้อม สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์ ขณะทรงผนวชประทับอยู่วัดสมอราย ปัจจุบันคือ วัดราชาธิวาส ให้เสด็จมาครองที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดบวรนิเวศนี้ เป็นวัดที่น่าสนใจมากวัดหนึ่ง เพราะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีรวมทั้งบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ต่างก็ทรงเคยมาผนวชอยู่วัดนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

 พระอุโบสถ มี 2 หลัง คือ
       1.พระอุโบสถ
       2.พระอุโบสถวัดรังสี

พระอุโบสถ
ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มี 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องรางแบบจีน หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบตรีมุข หน้าบันทั้ง 3 ด้าน มีลวดลายเหมือนกัน คือมีกรอบล้อมหน้าบันเป็นพานรองรับพระขรรค์ มีพระมหามงกุฎครอบ ลายเหล่านี้ประดับกระจกสีปิดทองล้อมรอบด้วยลายพุดตาน ซึ่งประดับกระเบื้องสีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้น ประดับกระจกสีปิดทองลายพุดตาน บานประตูด้านนอกเป็นไม้สักแกะสลักปิดทอง ลายสัตตพิธรัตน์ (แก้ว 7 ประการ อันคู่ควรแก่พระมหาจักรพรรดิ์ ได้แก่ บัวแก้ว วังแก้ว นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว จักรแก้ว และแก้วมณี) บานประตูด้านในเป็นภาพเขียนสีน้ำมันลายทวารบาลแบบจีน ลวดลายที่ปรากฏบนบานหน้าต่างด้านนอก เป็นไม้แกะสลักปิดทอง ได้แก่ลายหมวดเครื่องราชกุธภัณฑ์หมวดพระแสง เครื่องราชูปโภค เครื่องสูง เครื่องแต่งกาย พระมาลา เครื่องอัฏฐบริขาล สิงสาราสัตว์ เรือสำเภา เรือสุพรรณหงส์ ทหารสมัยโบราณ ดอกบัว จักรอยู่ในวิมานขนาบข้างด้วยเสมา แม่พระธรณีบีบมวยผม กินรี คนธรรพ์ เทพพนมและลายก้านแย่ง มุขหน้าต่างด้านในเป็นภาพสีน้ำมันลายเครื่องบูชาแบบจีน

เสาพระอุโบสถมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เสารับมุขพระอุโบสถ เป็นเสาเหลี่ยมหินอ่อนเซาะร่องตลอดแนวยาวของเสา ปลายเสาประดับด้วย ใบอคันซุส และเสาด้านข้างพระอุโบสถเป็นเสาเหลี่ยมลบมุม หินอ่อนไม่มีลายที่ปลายเสา พื้นอุโบสถและบันไดเป็นหินอ่อนเช่นเดียวกัน บนเสาบันไดประดับด้วยสิงโตหิน พนักกำแพงแก้วประดับด้วยกระเบื้องปรุลายประจำยาม บันไดทางขึ้นทั้ง 3 ทางของพระอุโบสถมีตัวเหราเป็นราวบันได รอบ ๆ พระอุโบสถประดับด้วยตุ๊กตาจีน ฐานปัทม์พื้นหินอ่อน ภายในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ยังมีภาพจิตกรรมฝาผนัง ซึ่งมีความงดงามอยู่มากและยังแยกเป็น 2 ตอน คือ ตอนล่างกับตอนบนพอจะยกตัวอย่างพอสังเขปได้ดังนี้

ตอนล่าง ของฝาผนังในพระอุโบสถจะเป็นภาพเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและประเพณีทางพุทธศาสนาและชีวิตประจำวันของชาวไทย
ตอนบน ของฝาผนังในพระอุโบสถ จะเป็นเรื่องรูปฝรั่งแสดงปริศนาธรรมที่ผนังพระอุโบสถ

สันนิษฐานไว้ในหนังสือ ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร ว่าท่าจักได้เขียนแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงครองวัด ทราบกันว่า รัชกาลที่ 4 ได้ทรงคิดเขียนขึ้นทุกตอนแสดงปริศนาธรรมเนื่องด้วยคุณของพระรัตนตรัยครบทั้ง 3 เป็นของแปลกไม่มีในที่อื่น รูปภาพเหล่านี้มี 16 ตอนเท่าจำนวนประตูและหน้าต่าง ตอนหนึ่ง ๆ ก็อยู่ขื่อประตูและหน้าต่างช่องหนึ่ง ๆ

พระอุโบสถวัดรังสี
ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง หลังคาทรงไทยชั้นเดียวมี 2 ตับ มุงด้วยกระเบื้องราง หน้าบันไม่มีลวดลาย ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ประตูหน้าต่างเดิมเป็นลายรดน้ำ ปัจจุบันชำรุด ลบเลือน มีระเบียงล้อมรอบ พนักระเบียงประดับกระเบื้องมุงสีเขียว พื้นหินขัด พระวิหารวัดรังสี ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยชั้นเดียวมี 2 ตับ มุงกระเบื้องเคลือบมุขด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารหน้าบันเป็นลายดอกพุดตาน ประดับกระจกสีทองเช่นเดียวกับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ด้านในเป็นลายดอกไม้ร่วง เสาเหลี่ยมลบมุม ไม่มีลายที่ปลายเสา พื้นหินอ่อนบนพระวิหารเป็นฐานปัทม์ ปัจจุบันกำลังซ่อมแซม

วิหารพระศาสดา
ลักษณะของตัวอาคารก่ออิฐถือปูนพื้น 2 ชั้น มีระเบียบรอบฐาน ลูกแก้ว หลังคามุข 2 ชั้นมี 2 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบมุงกระเบื้องราง หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูดพระมหาพิชัยมงกุฎ

วิหารเก๋ง
อยู่บนพื้นเดียวกับวิหารพระศาสดา ด้านซ้ายมือ เป็นแบบผสมระหว่างทรงไทยกับทรงจีน คือ หลังคาแอ่นโค้งแบบจีน สันหลังคาประดับปูนปั้นลายช่อดอกไม้ ใบไม้ หลังคาลดมุข 2 ชั้น มี 3 ตับ มุงกระเบื้องราง ด้านหน้ามีมุขยื่น และตัววิหารเก๋งประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลายช่อดอกไม้ ไก่ฟ้า สิงโต แจกันดอกไม้ และเครื่องบูชาอย่างจีน ฐานบัวมีพาไลเปิดโล่งโดยรอบเสาพาไลสี่เหลี่ยมหนา ลบมุดปลายสอบ บานหน้าต่างไม้ ลายรดน้ำ รูปทิวทัศน์อย่างแบบจีน

พระมหาเจดีย์
เป็นเจดีย์องค์ใหญ่มีสัณฐานกลมหรือเรียกว่า ลอมฟาง มีคูหาข้างในเข้าไปได้ มีชั้นทักษิณ 2 ชั้น เป็นสี่เหลี่ยมฐานพระเจดีย์ชั้นบนโดยล้อมรอบ 24 วา 3 ศอก 5 นิ้ว คำนวณตามเกณฑ์นี้ ส่วนสูงอขงพระเจดีย์ตั้งแต่ตอนนี้ขึ้นไปตลอดยอดประมาณ 22 วาเศษ

หอระฆัง
เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ผนังชั้นล่างปรุเป็นช่องรูปกากบาด ซุ้มหน้าต่างชั้นบนประดับปูนปั้นลายดอกไม้ หลังคาทรงระฆัง 4 เหลี่ยมปลายงอนเล็กน้อย

หอไตร
มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานปัทม์ มีพาไลโดยรอบ มีบันไดขึ้นด้านหน้าหลังคาทรงไม้ ไม่มีการซ้อนมี 2 ตับ ด้านล่างเป็นปีกนกรอบ มุงกระเบื้องราง ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันก่ออิฐฉาบปูน ปั้นเป็นลวดลายด้วยปูน แล้วเคลือบสีรูปดอกพุดตาน ก้านขมวดเป็นลายเครือเถามีเครื่องอัษฎางวุธ มหาพิชัยสงคราม เช่น ตรี หอก ดาบ ประดับเป็นแฉกคล้ายรัศมี ประกอบภาพ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังปัจจุบันกำลังทำการซ่อมแซม

ตำหนักเพชร 
เป็นคอนกรีตชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ สันหลังคาประดับด้วยปูนปั้นลายกระจัง หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ด้านล่างลงมาเป็นชื่อตำหนัก ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยไม้ คันทวยเป็นลายดอกไม้ ฐานแต่ละช่องประดับด้วยซุ้มดอกไม้ปูนปั้น เสาย่อเก็จประดับบัวหัวเสา พื้นปูด้วยหินอ่อน

ตำหนักจันทร์
เป็นคอนกรีต 2 ชั้น แบบตะวันตก ผนังอาคารเซาะร่องตามแนวขวางของผนังทั้งชั้นที่ 1 และที่ 2 แต่ชั้นที่ 2 มีลายปูนปั้นเป็นรูปจุลมงกุฎ ประดับที่ผนังด้วยเชิงชาย คันทวยและช่องลม เหนือหน้าต่างเป็นลายฉลุไม้ เสาเหลี่ยมติดผนังเซาะร่องตามแนวยาวของคันเสา พื้นและบันไดปูด้วยหินอ่อน

ตึกมนุษย์นาควิทยาทาน
ลักษณะสถาปัตยกรรมเลียนแบบศิลปโกธิค เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น หน้าจั่วของอาคารประดับตกแต่งด้วยเสากลมติดผนัง รองรับซุ้มโค้ง หน้าต่างประดับกระจกสี ตรงกลางของตัวอาคารเป็นนาฬิกา เหนือนาฬิกานี้มีชื่ออาคารว่า “มนุษย์นาควิทยาทาน” พ.ศ.2466 อาคารลูกกรงหน้าจั่วขนาบข้างด้วยอาคารซึ่งมีลักษณะคล้ายป้อมโบราณ หน้าต่างของอาคารที่ขนาบนั้นประดับกระจกสีและมีซุ้มโค้งแหลม เสารองรับซุ้มเป็นเสากลมติดผนังเช่นกัน ประตูมีลายปูนปั้นเป็นลายดอกไม้อยู่ภายในซุ้ม หน้าต่างประดับกระจกสีที่ช่องแสง ชั้นที่ 1 ซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลม มีเสากลมติดผนังข้างละ 4 ด้าน ช่องแสงเหนือประตูประดับกระจกสีเป็นลายดอกไม้อยู่ภายในวงกลม

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com