พระปฐมบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ (สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
ที่ตั้ง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร
ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2279 เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติก็ได้ทรงจัดการบ้านเมือง ปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรีจนสงบ แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมาตั้งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบันนี้ แล้วพระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ให้มั่นคงสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 150 ปี ในปี 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล และได้มีมติตกลงสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้น เป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมกับฝั่งธนบุรีเสียในคราวเดียวกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมรูปและสะพาน กำหนดสร้างตรงต่อปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร คือ ถนนระหว่างวัดราชบูรณะกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้เชิงสะพานฝั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
ลักษณะทางศิลปกรรมที่สำคัญ
พระบรมรูปนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ขณะนั้นทรงอำนวยการแผนกศิลปากรคิดแบบและอำนวยการก่อสร้างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่อยู่เหนือพระเพลา องค์พระบรมรูปนั้น ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นและหล่อด้วยทองสำริด มีความสูงตั้งแต่ฐานตลอดยอด 4.60 เมตร (ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร) ฐานกว้าง 2.30 เมตร มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่ออีกชั้นหนึ่ง พระบรมรูปฯ ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร
เบื้องหลังก่อเป็นกำแพงหินอ่อนกั้นตอนกลางเจาะเป็นช่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลัก 2 ข้าง หน้าบันประดับลายปูนปั้นลานพวงมาลัย เหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม ด้านหลังกำแพงเป็นแผ่นจารึกหินอ่อน จารึกความเป็นมาของการก่อสร้าง และภายหลังได้มีการเสริมกำแพงให้สูงขึ้นไปอีก เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ และพานเครื่องประดับ มีน้ำพุ อยู่ทั้ง 2 ข้าง บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนคล้ายเป็นลวดลายไทยวางทอดอยู่ กึ่งกลางแผ่นสลักเป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น ซึ่งเป็นตรา “ปฐมบรมราชจักรีวงศ์” ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองด้านมีบันไดลาดจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ลงมาเป็นชั้นๆ จนถึงพื้นด้านล่างซึ่งประดับด้วยพันธุ์ไม้ดอกเป็นแนวยาว
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.