ชุมชนท่าพระจันทร์

ชุมชนท่าพระจันทร์

ที่ตั้ง
เมื่อกล่าวถึง “ ท่าพระจันทร์ ” ชื่อๆ นี้ น่าจะเป็นที่คุ้นหูของหลายคนทั่วไป ชุมชนท่าพระจันทร์ตั้งอยู่บริเวณถนนมหาราชและถนนพระจันทร์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจและถือเป็นชุมชนประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในเขตพระนคร ชุมชนนี้อยู่บริเวณใกล้เคียงติดกับชุมชนท่าช้างและท่าพระอาทิตย์ ชุมชนท่าพระจันทร์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในปัจจุบันหลายอย่าง ทั้งเป็นแหล่งความรู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เพราะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นแหล่งความรู้ทางโลก และแหล่งความรู้ทางธรรมคือวัดมหาธาตราชยุวราชรังสฤษดิ์อันเป็นแหล่งศึกษาพระปริตยธรรมของภิกษุ สามเณร อีกด้วย

ประวัติ
คำว่า “ท่าพระจันทร์” นั้น มีที่มาคือ จากการที่บริเวณชุมชนดังกล่าวตั้งอยู่ริมน้ำและมีท่าเรือ มีพ่อค้าแม่ค้าจากสวนฝั่งธนบุรีนำสินค้ามาขายที่ท่าเรือดังกล่าว และจากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนที่กล่าวว่า บริเวณชุมชนแห่งนี้สามารถมองเห็นพระจันทร์สวยเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าตั้งอยู่ริมน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อท่าพระจันทร์ดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน ชุมชนท่าพระจันทร์เริ่มมาจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนละจากบ้านเกิดของตนเพื่อหนีสงครามและหาที่อยู่เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งก็มีผู้คนบางส่วนอพยพมาจากจังหวัดต่างๆในประเทศมาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณท่าพระจันทร์ในปัจจุบัน เพื่อหาพื้นที่ในการทำมาค้าขาย จนกระทั่งก่อตั้งเป็นชุมชน ซึ่งที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์นี้ในอดีตส่วนหนึ่งเป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งเป็นวังหน้าคนแรกของราชวงศ์จักรี ต่อมาตกอยู่แก่ลูกหลานของท่าน ซึ่งก็ได้ขายเปลี่ยนมือให้เอกชนบ้างบางส่วน และพื้นที่ของท่าพระจันทร์ในอดีต ยังเป็นพื้นที่ของวัดมหาธาตุอีกด้วย ในปัจจุบัน บ้านเรือนส่วนใหญ่ของประชาชนในชุมชนท่าพระจันทร์เป็นของเอกชน อีกส่วนหนึ่งเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งผู้อยู่อาศัยต้องเช่าเป็นรายปี

เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังหน้า ชาวท่าพระจันทร์จึงผูกพันกับความเป็นวังหน้ามากๆ อีกทั้งยังให้ความระลึกถึงและเคารพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งเป็นวังหน้าคนแรกของราชวงศ์จักรี เนื่องจากความสำนึกในบุญคุณ ซึ่งหากไม่มีท่านชาวท่าพระจันทร์ก็คงไม่มีที่อยู่อาศัย เนื่องจากพื้นที่ของท่าพระจันทร์ในอดีต เป็นส่วนหนึ่งของวังของท่าน ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเคารพและศรัทธาต่อวังหน้าของชาวท่าพระจันทร์ก็คือ มีประชาชนชาวท่าพระจันทร์บางคนมีรูปปั้นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถไว้เพื่อเคารพภายในบ้าน จากความเคารพศรัทธาดังกล่าวชาวท่าพระจันทร์จึงจัดพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพและระลึกถึงสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี นอกจากพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวท่าพระจันทร์ซึ่งมีผู้คนส่วนหนึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน และมีศาลเจ้าซือกงและเจ้าแม่ทับทิมประดิษฐานไว้ในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งยังหลงเหลือวัฒนธรรมในด้านศาลเจ้าอยู่ และจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองทุกๆวันขึ้นปีใหม่ของทุกปีเช่นกัน

ชาวท่าพระจันทร์ในอดีตนับตั้งแต่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ประชาชนในชุมชนก็ประกอบอาชีพค้าขายมานับแต่นั้น โดยส่วนใหญ่ขายสินค้าประเภทจุกจิกทั่วไป ของชำ ของอุปโภค โดยสินค้าที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในอดีตก็คือขนมไทย มีพ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่ทำขนมไทยอร่อยมากจนขึ้นชื่อ ซึ่งเมื่อคนต่างถิ่นมาท่องเที่ยวที่ท่าพระจันทร์ก็ต้องซื้อติดมือกลับไปทุกครั้ง

ในอดีตท่าพระจันทร์มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นน้อยกว่าที่เห็นในปัจจุบัน อาชีพของประชาชนโดยรวมคืออาชีพค้าขาย ส่วนหนึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าจากฝั่งธนบุรีพายเรือสินค้าจากสวนของตนเองมาขายอยู่บริเวณท่าเรือ อีกส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าบริเวณริมถนนด้านนอกที่จะขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปให้ประชาชนที่กลับจากเรียนหรือทำงาน และจะมาโดยสารเรือข้ามฟากก็จะแวะซื้อสินค้าที่บริเวณท่าพระจันทร์นี้ ท่าพระจันทร์จึงมีสินค้าที่หลากหลายนับแต่ครั้งอดีต ในส่วนของชื่อเสียงด้านตลาดพระและชุดครุยนั้นเริ่มขึ้นในช่วงหลัง โดยตลาดพระเริ่มมีชื่อเสียงที่ท่าพระจันทร์เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นของตลาดพระที่มีชื่อเสียงของท่าพระจันทร์นั้น สันนิษฐานว่ามาจากการที่ชุมชนท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ใกล้วัดมหาธาตุ และมีคนไม่กี่คนริเริ่มให้บริการเช่าพระที่ชุมชนท่าพระจันทร์ หลังจากนั้นจึงมีผู้คนจากที่อื่นอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาเปิดบริการเช่าพระที่ชุมชนแห่งนี้ จนชุมชนท่าพระจันทร์กลายเป็นตลาดพระที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง

ในส่วนของชุดรับปริญญา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนแห่งนี้นั้น สันนิษฐานว่าชุมชนท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีร้านจำหน่ายชุดครุยเก่าแก่อยู่ร้านหนึ่ง พอระยะหลังๆมีคนเข้าไปขอเรียนรู้เกี่ยวกับชุดรับปริญญาจากร้านดังกล่าว และเปิดร้านบริการชุดรับปริญญาขึ้นมาบ้าง เมื่อชุดรับปริญญาเริ่มมีชื่อเสียงในชุมชนท่าพระจันทร์ ก็จะมีคนจากที่อื่นนิยมเข้ามาเปิดร้านบริการชุดรับปริญญาในชุมชนท่าพระจันทร์มากขึ้น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

จากจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชุมชนในช่วงสงครามซึ่งมีเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนในช่วงก่อตั้งชุมชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลของความต้องการที่จะหาพื้นที่ทำกินที่ดี จนชุมชนท่าพระจันทร์มีชื่อเสียงในด้านสินค้าหลากหลายประเภท ซึ่งนอกจากมีชื่อเสียงในด้านแหล่งการค้าแล้ว ยังมีความสำคัญในการเดินทางทางเรืออีกด้วย

ชุมชนท่าพระจันทร์ชุมชนท่าพระจันทร์ ชุมชนท่าพระจันทร์

อาชีพ
ชาวชุมชนท่าพระจันทร์ในปัจจุบันมีอาชีพค้าขาย สินค้าที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นอาหารการกิน ของชำ ของใช้ทั่วไปทั้งของใช้ที่จำเป็นและสิ้นเปลือง สินค้าที่จะสามารถหาซื้อได้ในท่าพระจันทร์นั้น ยกตัวอย่างเช่น นาฬิกา แว่นตา ชุดรับปริญญา หนังสือ นอกจากนี้ยังจะสามารถเลือกซื้อของรับประทานได้หลากหลาย อาทิ ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น โรตี อาจกล่าวได้ว่าคนท่าพระจันทร์ขายสินค้าทุกประเภท ซึ่งการค้าขายดังกล่าวเป็นอาชีพดั้งเดิมเมื่อครั้งสมัยก่อตั้งชุมชน ในรุ่นต่อๆ มาอาจเข้าไปทำงานในภาคราชการและธุรกิจบ้าง แต่ผู้คนในรุ่นดั้งเดิมก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขายอยู่ ประชาชนที่เป็นลูกค้าสำคัญของชาวชุมชนท่าพระจันทร์จะเป็นกลุ่มคนทำงานและประชาชนที่รอเรือที่ท่าพระจันทร์เพื่อโดยสารเรือข้ามฟาก อีกส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่าพระจันทร์มีการเปิดร้านจำหน่ายอาหารมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาในช่วงพักกลางวัน แต่เมื่อมีการย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติทั้งหมดและหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันนทร์ ไปเรียนยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำให้กลุ่มลูกค้านักศึกษาลดจำนวนลง ความคึกคักของร้านอาหารลดลงตามไปด้วย

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมของชุมชนท่าพระจันทร์โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ จะมีเปลี่ยนแปลงเป็นตึกบ้าง การที่รูปแบบบ้านเรือนของประชาชนเป็นอาคารซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวก็เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการค้าขายและอยู่อาศัยไปในคราวเดียวกัน ในระยะหลังๆมีการปรับปรุงทัศนียภาพและบ้านเรือนในชุมชนท่าพระจันทร์ให้สวยงามและสะอาดขึ้น โดยเฉพาะในซอยกลางที่ปรับปรุงทางเดินให้สวยงามเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง เปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมจากเรือนแถวรูปแบบจีนให้มีลักษณะคล้ายทรงยุโรปมากขึ้นเพื่อความสวยงามและเข้าสมัย

เอกลักษณ์ของชุมชน
ชุมชนท่าพระจันทร์เป็นชุมชนที่เป็นท่าเรือโดยสารข้ามฟากระหว่าง พระปิ่นเกล้า ท่าศิริราช และท่าพรานนก อีกด้วย บริเวณท่าเรือเป็นที่ค้าขายอาหาร แหล่งเสื้อผ้าเครื่องประดับแฟชั่นทันสมัยต่างๆ ลักษณะคล้ายๆ ท่าช้าง แต่นักท่องเที่ยวมีจำนวนน้อยกว่าเพราะท่าเรือที่เล็กกว่า และไม่มีการดำเนินกิจการท่องเที่ยวทางน้ำเช่นท่าช้าง การค้าขายสินค้า handmade และศิลปะไทยจึงมีน้อย ท่าพระจันทร์เป็นชุมชนที่มีสีสันด้วยความที่เป็นแหล่งร้านค้าอาหารการกินที่สำคัญ ทั้งอาหารทานเล่นและร้านอาหารที่มีชื่อมากมาย เช่น โรตีมะตะบะ ร้ายเสต็กริมทาง ร้านนายดี ฯลฯ ทั้งนี้ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงอาหารเมื่อนึกถึงท่าพระจันทร์ เพราะที่นี่มีร้านอาหารให้เลือกทานกันตั้งแต่เช้าเรื่อยไปจนกระทั่งดึกค่ำเลยทีเดียว เรียกได้ว่าพลุกพล่านอยู่ตลอดทั้งวัน ร้านอาหารที่บริเวณท่าพระจันทร์มีมากถึง 100 ร้านเลยทีเดียว

นอกจากอาหารการกินแล้วบริเวณที่ท่าพระจันทร์ยังเป็นตลาดพระที่ขึ้นชื่อ เป็นเแหล่งศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เช่าพระเครื่องแหล่งใหญ่ที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งมีมากถึง 50 ร้าน โดยไม่นับรวมถึงบริเวณริมบาทวิถีข้างวัดมหาธาตุ นอกจากนี้ชุมชนท่าพระจันทร์ยังเป็นศูนย์รวมร้านค้าเกี่ยวกับการตัดชุดข้าราชการ ชุดครุย ชุดปริญญาต่างๆ ด้วยถือเป็นแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งซึ่งมีชุดข้าราชการเกือบทุกกระทรวงและชุดครุยมหาวิทยาลัยเกือบทุกสถาบันทั้งของรัฐและเอกชน อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนที่ได้แวะเวียนผ่านไปมานั้นได้แก่ ร้านดูดวง พยากรณ์ชีวิต ที่มีอยู่มากในบริเวณท่าพระจันทร์แห่งนี้ ทั้งที่ดูอยู่ตามใต้ต้นลั่นทม ทั้งที่ตั้งเป็นร้านสำหรับดูดวงพยากรณ์โดยเฉพาะ รูปแบบการทำมาหากินประเภทนี้จึงนับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีมากในชุมชนท่าพระจันทร์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ความสำคัญของชุมชนดังกล่าวนี้เองจึงทำให้ชุมชนนี้เป็นที่รู้จักอย่งกว้างขวางเป็นที่แวะเวียนของผู้คนอยู่เสมอๆ ชุมชนท่าพระจันทร์นั้นเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนที่ไม่เคยที่เงียบเหงาเลย ความมีเสน่ห์ของชุมชนนี้นอกจากเป็นชุมชนที่มีอาหารการกินมากมายแล้ว เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของชุมชนยังอยู่ที่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยปนยุโรป ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขตพระนครด้วย ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง ลักษณะบ้านเรือนนั้นเป็นตึกแถวไม้ที่เรียงรายกันไป ชั้นล่างของตัวอาคารถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย บ้างต่อเติมเป็นห้องปรับอาการ บ้างยังคงรูปแบบเดิม ส่วนด้านบนได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน บริเวณอาคารที่มีชื่อเสียงอยู่บริเวณตรอกมหาธาตุ และ ซอยกลาง ที่มีความสวยงามอย่างมากสังเกตได้ถึงความเป็นชุมชนโบราณ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์

ชุมชนท่าพระจันทร์มีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายกลุ่มคนอยู่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะเป็นชุมชนการค้าที่มีคนเข้าออก เพื่อหากินยังชีพ ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนที่เก่าแก่มากๆ นั้นหลงเหลืออยู่น้อย ส่วนมากมีการย้ายเข้าออกอยู่เสมอๆ ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้มีถิ่นฐานมากจากหลากหลายที่ต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามชุมชนนี้ก็ยังคงเป็นที่รักและหวงแหนอยู่เสมอไม่ว่าจะมีมากี่รุ่นต่อกี่รุ่นของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย ผู้คนที่อาศัยที่ชุมชนนี้มาอย่างยาวนานนั้นมักได้แก่ชาวไทยเชื้อสายจีน พวกเขามีความรู้สึกรักและผูกพันกับชุมชนอยู่อย่างลึกซึ้ง และมีความผูกพันกับศาสนา วังและวัด รวมทั้งผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอันมาก ทั้งนี้พวกเขามีความยินดีที่จะให้ชุมชนนี้มีความคึกคักเช่นนี้ต่อไป เพราะพวกเขามีความสุขกับการตื่นเช้าเพื่อเตรียมตัวค้าขาย และพอใจกับการมองผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างพลุกพล่านในฐานะเป็นชุมชนการค้าที่สำคัญ

หมายเหตุ
สัมภาษณ์คุณอุดมพร สนธิแก้ว รองประธานชุมชนท่าพระจันทร์ อายุ 52 ปี สัมภาษณ์วันที่ 10 สิงหาคม 2547

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com