ตึกแถวถนนเฟื่องนคร
ที่ตั้ง
ถนนเฟื่องนครแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
ถนนเฟื่องนครสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับถนนเจริญกรุงและบำรุงเมือง เริ่มต้นจากสี่กั๊กพระยาศรีไปบรรจบกับถนนบำรุงเมืองที่สี่แยกเสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้พ้องกันว่า “ถนนเฟื่องนคร“ เมื่อครั้งถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง และเฟื่องนคร สร้างเสร็จในเวลาอันไล่เลี่ยกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้มีการฉลองถนนทั้งสามสายเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน มีมหรสพ และดอกไม้ไฟตั้งเสาสูงถึง 12 วา โดยเสด็จประพาสถนนทุกสายที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นเพื่อเป็นศุภฤกษ์ด้วยถนนเฟื่องนครเป็นเส้นทางขนานกับคลองหลอด หากเริ่มต้นจากสี่กั๊กพระยาศรีทางฝั่งซ้ายของถนนคือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 5 ถัดจากนั้นคือด้านหลังของกระทรวงมหาดไทย ส่วนอาคารตึกแถวถนนเฟื่องนครอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้าม ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งสำนักพิมพ์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียง อาคารตึกแถวสองฟากถนนเฟื่องนครนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตกบางส่วนมีสภาพทรุดโทรม ในปัจจุบันถนนเฟื่องนครไม่ใช่เป็นเส้นทางหลักในการสัญจร บรรยากาศจึงค่อนข้างเงียบสงบ ไม่ใช่ถนนแห่งความรุ่งเรื่องเฟื่องฟูของพระนครอย่างในอดีต
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารมีลักษณะเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น แต่ละคูหามีขนาดกว้าง 3.00 เมตร สูง 10.00 เมตร หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว รูปแบบอาคารเป็นแบบตึกแถวตะวันตก ผนังเป็นแบบฉาบปูนเรียบมีแนวเสาคั่นแต่ละห้อง เสาเซาะร่องตามแนวนอนหรือปูนปั้นประดับตกแต่ง บานหน้าต่างบริเวณชั้น 2 เป็นบานแฝดไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ด้านบนหน้าต่างมีกันสาดยื่นมุงด้วยสังกะสี ด้านบนของผนังมีแนวปูนปั้นบัวหงายขึ้นไปรับกับแนวชายกระเบื้อง ประตูเป็นบานเฟี้ยมไม้แบบลูกฟักกระดานดุนเช่นกัน ด้านบนประตูมีกรอบด้านบนโค้งเล็กน้อย บางหลังมีการเจาะช่องระบายอากาศด้านบนประตูเป็นไม้ฉลุลาย ชั้นล่างมีแนวกันสาดคลุมทางเดินด้านหน้าอาคารยาวตลอดแนวอาคาร อาคารบริเวณหัวมุมถนนมีลักษณะพิเศษคือมีส่วนที่เป็นมุขหรือกระบังหน้า ซุ้มเป็นปูนปั้นมีลักษณะเป็นซุ้มโค้ง มีปูนปั้นรูปแจกันอยู่ตรงกลาง มีลายปูนปั้นหัวเสาขึ้นมารับซุ้มด้านบน ส่วนหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ มีซุ้มปูนปั้นเป็นรูปหน้าจั่วอยู่ด้านบน ชั้นล่างผนังมีการเซาะร่องตามแนวยาว
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535