ตึกแถวข้างวัดบวรนิเวศวิหาร

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนพระสุเมรุตัดกับถนนดินสอข้างวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

ประวัติ
ตึกแถวบริเวณข้างวัดบวรนิเวศ สันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2468 - 2477) ปลูกอยู่ในบริเวณที่ดินของวัดบวรนิเวศวิหาร จากคำบอกเล่าของพระครูปริยัติ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทำให้ทราบว่าเดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยของมหาดเล็กและข้าราชบริพารในสมัยนั้น

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ  
ตึกแถวข้างวัดบวรนิเวศวิหารตั้งอยู่ริมถนนดินสอติดกับโรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงมุมถนนพระสุเมรุ เป็นแถวยาวแต่ไม่ติดกันเป็นแนวตลอด มีการแยกเว้นเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นทางเข้าบ้านที่อยู่ด้านหลังตึกแถว ช่วงหนึ่ง ๆ มีประมาณ 9 -16 คูหา คูหาตรงมุมถนนสูง 3 ชั้น คูหาแต่ละคูหามีที่ว่างด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าประมาณ 3.00 เมตร ปัจจุบันกั้นเนื้อที่อาคารออกมาเต็มที่ว่างด้านหน้า ลักษณะโดยทั่วไปมีดังนี้คือ เป็นอาคารแถวก่ออิฐถือปูน 2 - 3 ชั้น หากมองด้านข้างซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว ดูเหมือนว่าเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคามุมกระเบื้องมีขอบสันหลังคาทุก 2 คูหา ซึ่งมีผนังที่ก่อขึ้นกันไฟไหม้  หน้าต่างเป็นบานลูกฟักกระดานดุนเช่นเดียวกับบานประตู ซึ่งเป็นบานเฟี้ยมผนังชั้นล่างและชั้นบน ส่วนบนเจาะเป็นช่องกลมหรือช่องสี่เหลี่ยมระบายอากาศ ตึกแถวบางห้องที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง จะพบว่าเหนือหน้าต่างและประตูมีรอยเซาะร่องตื้น เฉียงขึ้นไปจรดชั้นบน    

 

 

 

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทหิรัญพัฒน์จำกัด, 2535

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com