ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดิน

ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดินที่ตั้ง
ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดิน ตั้งอยู่ในแขวงเสาชิงช้าและวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับถนนราชดำเนินกลาง
ทิศใต้ ติดกับถนนมหรรณพ
ทิศตะวันออก ติดกับศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันตก ติดกับวัดมหรรณพาราม


ประวัติ
ที่ดินในส่วนของชุมชนนี้ในอดีตเคยเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและช่างตีทองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทาน โดยปัจจุบันยังมีบ้านของข้าราชการรุ่นเก่าตกทอดมาถึงลูก หลานให้เห็นกันในปัจจุบัน อย่างเช่นบ้านของหลวงไชยประชานุรักษ์โดยพื้นเพท่านมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี และเข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นแล้วสมัยก่อนเคยมีหน่วยงานของกรมศิลปากรอยู่ในตรอกศิลป์ อาจเป็นด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนทั่วไปเรียกชื่อตรอกนี้ว่า “ตรอกศิลป์” พระพรหมพิจิตร์ (พรหม พรหมพิจิตร์) สถาปนิกคนสำคัญผู้เคยออกแบบก่อสร้างเมรุหลวงมามากมาย ซึ่งเคยมีบ้านพักอยู่ในตรอกนี้ ถึงกับระบุตำแหน่งบ้านของท่านว่า “ บ้านตึกดิน ตรอกกรมศิลปากร ถนนดินสอ”

อีกทั้งบริเวณชุมชนนี้ยังเป็นที่ตั้งของบ้านพระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) จิตรกรเอกผู้วาดภาพรามเกียรติ์ตอนที่ 1 ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ บ้านพระยาศรีสุรสงคราม บ้านพระพินิจชน ที่ตรอกศิลป์ ชื่อร้านอมราภรณ์ เป็นร้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง (รับช่วงต่อจากร้านอาภรณ์สภาคารซึ่งเป็นร้านจำหน่ายทองรูปพรรณร้านแรกของคนไทย) และทำสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ขุนนางทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดิน ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดิน
สภาพทั่วไปของชุมชนตรอกศิลป์ สภาพทั่วไปของชุมชนตรอกตึกดิน

ส่วนคำว่า “ ตึกดิน” สันนิษฐานว่าน่าจะบ่งชี้ถึงหลุมหลบภัยที่เคยสร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในบริเวณนี้ในอดีต โดยไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันอีกแล้ว  ตรอกศิลป์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชนและปลูกบ้านอยู่อาศัยเอง ลักษณะของบ้านอยู่ในเกณฑ์ดี อายุของชุมชนประมาณ 70 ปี ตรอกตึกดิน ที่ดินเป็นที่เช่ามีสัญญาระบุเป็นปีต่อปีกับกรมศาสนา และเคยมีไฟไหม้เมื่อปี 2519-2520 ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ชุมชนตรอกศิลป์ – ตรอกตึกดิน มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1 ไร่ 28 ตารางวา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง ส่วนที่เหลือก็รับราชการหรือประกอบอาชีพส่วนตัว คนในชุมชนโดยรวมนับถือศาสนาพุทธ ประเพณีและของดีของชุมชน คือ การร่วมทำบุญในวันสำคัญๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ โดยจะออกมาร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร ณ ลานอเนกประสงค์

หมายเหตุ
ข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์ นางสาวินี เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2547

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com