ตลาดบ้านหม้อ

ที่ตั้ง
ตลาดบ้านหม้อตั้งอยู่บนถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งศูนย์รวมอุปกรณ์เกี่ยวกับวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ และมีร้านจำหน่ายเครื่องเพชร พลอย ทองคำ และเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับชื่อบ้านหม้อในอดีตที่เคยเป็นชุมชนช่างหม้อที่มีชื่อเสียง

ประวัติ
บ้านหม้อในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่ผู้คนในย่านนี้ประกอบอาชีพปั้นหม้อและเครื่องปั้นดินเผาขาย เป็นชุมชนเก่าแก่พอๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของพระบรมมหาราชวัง ตั้งบ้านเรือนเรียงรายตามสองฝั่งคลองคูเมืองเดิม จนกระทั่งถึงถนนเจริญกรุง บรรจบกับหัวมุมวังสราญรมย์ ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ติดต่อกันเส้นตรงยาว 525 เมตร กว้าง 20 เมตร ตั้งแต่บ้านหม้อถึงถนนจักรเพชร ชื่อว่าถนนพาหุรัด อาชีพปั้นหม้อขายของชุมชนบ้านหม้อยังคงสืบต่อกันมา จนถึงปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 คงเหลือไว้เพียงชื่อถนนบ้านหม้อ ที่เริ่มจากถนนเจริญกรุงตรงถนน สี่กั๊กพระยาศรี ตรงไปทางปากคลองตลาดตัดถนนพาหุรัด

บรรพบุรุษของชาวบ้านหม้อนี้เป็นชาวมอญเก่าอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวญวนจากเมืองเว้ ซึ่งอพยพมาจากเหตุการณ์จลาจลที่เมืองเว้ มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ราว พ.ศ. 2319 และทรงโปรดให้ตั้งบ้านเรืออยู่บริเวณบ้านหม้อนี้ และยังมีชาวลาวพวน และลาวเวียงจันทร์ ที่ถูกกวาดต้อนมาอาศัยอยู่รวมกันคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ. 2371 ครั้งนั้นเรียกบริเวณนี้ว่า “ตำบลบ้านลาว”
ในหนังสือคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้ระบุถึงย่านการค้า และแหล่งผลิต ในสมัยอยุธยาไว้ว่า “ ...ย่านบ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าว หม้อแกง กระทะ เตาขนมครก เตาไฟ ตะคันเชิงไฟ บาตรดิน กระโถนดิน... ” นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ พ.ศ. 2311 ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองคูเมืองพระนครฝั่งตะวันออก คือคลองคูเมืองเดิม ส่วนฝั่งตะวันตกที่ตั้งของพระราชวัง บริเวณที่เรียกว่า คลองบ้านขมิ้นตอนหนึ่ง คลองบ้านหล่อตอนหนึ่ง “ คลองบ้านหม้อ “ ตอนหนึ่ง และคลองวัดท้ายตลาดตอนออกคลองบางกอกใหญ่ตอนหนึ่ง  ในปัจจุบันบ้านหม้อเป็นย่านการค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า โทรทัศน์เครื่องเสียง อุปกรณ์วงจรไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานคร    
ban-mau2 ban-mau4

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com