กรมแผนที่ทหาร

ที่ตั้ง 
ถนนกัลยาณไมตรี แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ 
พ.ศ. 2426 จึงได้โปรดเกล้าให้จัดตั้งโรงเรียนแผนที่ขึ้นในพระบรมหาราชวัง อยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อผลิตนักแผนที่ได้บ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 242 มีพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาธี) เป็นเจ้ากรมคนแรกสังกัดอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ อาคารกรมแผนที่ทหารสร้างขึ้นราว พ. ศ. 2434 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังสราญรมย์เรียกว่าโรงเรียนทหารสราญรมย์ ต่อมาได้ใช้เป็นกรมเสนาธิการทหารบก จนกระทั่งในปี พ. ศ. 2474 กรมแผนที่จึงย้ายมาที่อาคารนี้ และได้ดำเนินการต่อมาจนรวมกิจการเข้ากับกรมแผนที่ทหารบก และใน พ. ศ. 2506 จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมแผนที่ทหารมาจนถึงปัจจุบันการทำแผนที่ในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ โดยมีนายเฮนรี่ อะลาบาสเตอร์ ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ได้ถวายคำแนะนำให้จัดตั้งกองทำแผนที่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2418 โดยเริ่มทำแผนที่ผังเมืองกรุงเทพฯ แผนที่วางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ไปเมืองพระตะบอง และแผนที่บริเวณน่านน้ำอ่าวไทย พ.ศ. 2423 กรมแผนที่อินเดียได้ขยายโครงข่ายสามเหลี่ยมใหญ่มาทางพม่า และขอทำจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา นายเจมส์ แมคคาธี เป็นช่างแผนที่คนหนึ่งที่ปฏิบัติงานนี้ นายอะลาบาสเตอร์ ได้ทูลขออนุมัติว่าจ้างนายแมคคาธีให้รับราชการทำแผนที่ในประเทศไทย นายแมคคาธีได้รับการบรรจุในสังกัดฝ่ายกลาโหม ทั้งนี้เพราะราชการแผนที่ที่จะต้องทำในเวลานั้นอยู่ในเขตการปกครองของสมุหกลาโหม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
รูปแบบอาคารเป็นแบบนีโอคลาสคิค ออกแบบโดยนายเอส. คาร์ดู และนายไอ. ดี. คาสตร์ ตัวตึกสร้างยาวขนานกับถนนเป็นตึก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องลอน ที่หลังคามีแผ่นปูนปั้นเป็นระยะประดับลวดลายสลับกัน โดยเป็นตราพระเกี้ยวสลับกับลายช้างสามเศียรช่องหนึ่ง และลายช้างและปืนไขว้อยู่ภายในแผ่นปูนปั้นอีกช่องหนึ่งสลับกันไป  ตัวตึกส่วนล่างเว้นเป็นช่องว่างกว้างพอให้รถผ่านเข้าออก ทางเข้าใหญ่นี้ประดับด้วยเสากลมหัวเสาแบบโรมัน แผ่นปูนปั้นที่ตรงทางเข้าออกนี้เป็นตราพระเกี้ยวอยู่กึ่งกลาง ถัดลงมาเป็นลายพวงดอกไม้อยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมเรียงต่อกันเป็นแนวล่างสุด อาคารทางปีกซ้ายหรือทิศตะวันออกของประตูทางเข้าใหญ่สร้างสูงเป็นพิเศษ คือ สูง 3 ชั้นเพียงช่องเดียว มีป้ายชื่อกรมแผนที่ทหาร ประดับที่ระเบียงชั้น 2 ช่องหน้าต่างของชั้นที่ 3 เป็นช่องหน้าต่างกระจกกรอบไม้วงโค้งใหญ่ เหนือหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายในวงกลม อาคารส่วนอื่นเป็นอาคาร 2 ชั้น มีการตกแต่งสวยงามกลมกลืนกันคือผนังชั้นล่างเซาะร่องคล้ายการเรียงหิน หน้าต่างของชั้นล่างเป็นหน้าต่างวงโค้งบานใหญ่ติดกระจกเดินกรอบไม้ หนาต่างชั้นที่ 2 เป็นบานไม้ประดับปูนปํ้น ที่เหนือขอบหน้าต่างเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วบานหนึ่งสลับกับปูนปั้นรูปโค้งวงกลมบานหนึ่งเรียงสลับกันไปตลอดแนว ปัจจุบันอาคารได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนสีใหม่จากสีขาวเป็นสีส้ม

 

ด้านหน้าอาคาร

ด้านหน้าอาคาร

อาคารทิศตะวันออกส่วนที่สร้างสูง 3 ชั้น 

 

อาคารด้านริมคลองหลอด

อาคารด้านริมคลองหลอด

กระบังหน้าประดับลายปูนปํ้น

ลักษณะซุ้มหน้าต่าง

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547.
สมบัติ พลายน้อย. ร้อยแปดที่กรุงเทพฯ , กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2546.
ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544.

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com