กระทรวงกลาโหม
ที่ตั้ง
ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
บริเวณที่ทำการกระทรวงกลาโหมเดิมเคยเป็นที่ตั้งของวัง 3 วัง รวมกัน คือวังถนนหลักเมืองวังที่ 2 วังถนนหลักเมืองวังที่ 4 และวังถนนหลักเมืองวังที่ 6 สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นจิตรภักดี กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และกรมหมื่นอินทราพิพิธ ต่อมาวังดังกล่าวได้ร้างและกลายเป็นฉางเก็บข้าวหลวง จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สร้างโรงทหารหน้าขึ้น มีขนาดกว้าง 3 เส้น 10 วา ยาว 5 เส้น ชั้นล่างเป็นที่ฝึกหักการฟันดาบ ชั้นกลางเป็นที่ประชุมนายทหาร ชั้นบนเป็นที่เก็บสรรพศัสตราวุธ และเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเครื่องทหารต่าง ๆ และมีประตูใหญ่สองข้าง มีห้องทหารคอยเหตุ และรักษายามทั้งสองข้าง ด้านหน้าชั้นล่างเป็นคลังเก็บเครื่องครุภัณฑ์และยุทธอาภรณ์ ชั้นกลางเป็นที่ประชุมนายทหาร ชั้นบนเป็นห้องพักสำหรับนายทหารอ และแบ่งเป็นห้องสำหรับพลทหาร ในกองร้อยหนึ่งมีห้องสำหรับนายทหารอยู่ห้องหนึ่งทุก ๆ กองไป ด้านขวาชั้นล่างเก็บปืนใหญ่ ชั้นบนเป็นที่อยู่ของทหารปืนใหญ่ โรงข้างโรงช้างนั้นเดิมเป็นโรงม้าหลวงชั้นนอกขนาดชั้นเดียว จึงทรงให้แก้ไขโรงม้าเก่าให้เป็น 2 ชั้น ชั้นล่างให้ม้าอยู่ ชั้นบนให้ทหารม้าอาศัย โรงใหญ่ข้างขวาแบ่งเป็นห้องนายแพทย์ทหารและโรงพยาบาลทหาร ถัดโรงใหญ่นั้นเป็นโรงฝึกหัดม้า โรงไว้ม้า และรถพระที่นั่ง ด้านซ้ายต่อจากโรงทหารใหญ่ ถึงหอนาฬิกาที่หอนั้นเป็นที่เก็บเครื่องสนามและเครื่องยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ ชั้นล่างเป็นที่สำหรับสูบน้ำขึ้นบนถึงสูง และเป็นโรงงานทหารช่างต่าง ๆ อาคารนี้เปิดทำการวันที่ 18 กรกฎาคม 2427 และมีการใช้สอยเป็นที่ทำการกระทรวงกลาโหมมาโดยตลอดจนปัจจุบัน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมออกแบบโดยนายโยคิม แกรซี เป็นอาคาร 3 ชั้น งดงามด้วยสถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียน ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม คือผัง มีลักษณะเกือบสี่เหลี่ยม บริเวณมุขชั้นที่ 2 มีระเบียงขนาดใหญ่ต่อยื่นมาจากตัวตึกรองรับด้วยเสากลมขนาดใหญ่ หัวเสาแบบโรมัน รองรับเป็นระยะๆ แถวละ 6 ต้น มีทั้งสิ้น 2 แถวด้านหน้าของระเบียงใหญ่ประดับด้วยสัญลักษณ์สามเหล่าทัพ คือ กงจักร สมอ และปีกอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง ทางด้านซ้ายและขวาของรูปสัญลักษณ์มีอักษณคำโคลงสยามานุสติ ด้านหน้าอาคารเป็นสนามหญ้ากว้างตกแต่งด้วยปืนใหญ่โบราณหลายกระบอกกึ่งกลางสนามเป็นเสาธงขนาดใหญ่เหลี่ยมจตุรัสโอบล้อมลาน
อาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเน้นทางเข้าด้วยมุขหน้าจั่วทรงโรมันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างอยู่ภายในกงจักรขนาบข้างด้วยคชสีห์และราชสีห์ถือฉัตร ถัดรูปช้างขึ้นไปเป็นตราพระเกี้ยวปิดทอง ส่วนใต้รูปช้างลงมาเป็นรูปชายแพรทาสีฟ้าสดใส ถัดจากหน้าจั่วลงมาเเป็นป้ายชื่อกระทรวงกลาโหม หน้าต่างบริเวณชั้น 3 ของมุขนี้ทำพิเศษกว่าหน้าต่างส่วนอื่น คือ เป็นหน้าต่างบานโค้งส่วนที่เป็นช่องแสงติดกระจกสีต่าง ๆ ส่วนหน้าต่างบานอื่น ๆ ซึ่งมีโดยรอบตึกเป็นหน้าต่างบานไม้ทาสีไข่ไก่กรอบหน้าต่างทาสีน้ำตาล มีปูนปั้นประดับแตกต่างกันแต่ละชั้น คือชั้นที่ 1 ปูนปั้นเป็นรูปคล้ายการเรียงหิน ชั้นที่ 2 ปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ชั้นที่ 3 ปูนปั้นเป็นรูปวงโค้ง บริเวณมุขชั้นที่ 2 มีระเบียงขนาดใหญ่ต่อยื่นมาจากตัวตึกรองรับด้วยเสากลมขนาดใหญ่ หัวเสาแบบโรมันรองรับเป็นระยะๆ แถวละ 6 ต้น มีทั้งสิ้น 2 แถว ด้านหน้าของระเบียงใหญ่ประดับด้วยสัญลักษณ์สามเหล่าทัพ คือ กงจักร สมอ และปีกอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง ทางด้านซ้ายและขวาของรูปสัญลักษณ์มีอักษณคำโคลงสยามานุสติ ด้านหน้าอาคารเป็นสนามหญ้ากว้างตกแต่งด้วยปืนใหญ่โบราณหลายกระบอกกึ่งกลางสนามเป็นเสาธงขนาดใหญ่
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
อรสรวง บุตรนาค .นำเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์จากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : บริษัท เอส.ที.พี.เวิลด์ มีเดีย จำกัด. 2542.