กระทรวงการต่างประเทศ
ที่ตั้ง
ถนนสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
ที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศเดิมคือพระราชวังสราญรมย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดฯให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแม่กองสร้างพระราชวังขึ้นที่ตึกเก่าใกล้พระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกบริเวณสนามไชยเมือปี พ.ศ.2409 เหตุที่สร้างพระราชวังสราญรมย์นี้เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงเจริญพระชันษาได้ทรงผนวชแล้ว จะทรวงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์จะเสด็จไปประทับที่วังสาญรมย์ ทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าหลวง ทรงแนะนำราชการแผ่นดิน จนตลอดพระชนมายุ แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนไม่ได้เป็นไปตามพระราชประสงค์
ในสมัยพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัวโปรดให้สร้างต่อจนเสร็จและพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ ต่อมาเสด็จไปประทับวังเดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จของสมเด็จฯเจ้าฟ้าภานุพันธ์วงค์วรเดชได้ประทับอยู่จนสร้างวังบูรพาภิรมย์เสร็จแล้วจึงได้ย้ายไป ทรงตั้งสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจึงโปรดให้ใช้อาคารนี้เป็นอาคารว่าการกระทรวงการต่างประเทศจัดเป็นที่รับเสด็จเจ้านายต่างประเทศ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
พระตำหนัก
ปัจจุบันชั้นล่างเป็นที่ทำการของกองคลัง สำนักปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนชั้นบนเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองแขกเมือง พระตำหนักมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ตรีมุข สถาปัตยกรรมแบบยุโรปยุคหลัง หน้าบันแบบโรมัน หน้าบันมุขกลางประดับลายปูนปั้นตราประจำรัชกาลที่ 4 ส่วนหน้าบันมุขข้างที่ปลายปีกของอาคารทั้งสองข้าง ประดับลายปูนปั้นตราพระเกี้ยวซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5 หน้าบันระเบียงมุขกลางและหน้าบันประตูที่ระเบียงมุขข้างประดับลายปูนปั้น ลายใบไม้ และพวงอุบะ เสามุขตกแต่งหัวเสาเป็นลายใบไม้ ลายปูนปั้นเหล่านี้ปิดทองประดับอีกชั้นหนึ่ง มีระเบียงตลอดปีกของอาคาร เสาระเบียงทรงสี่เหลี่ยมหัวเสาแบบเรียบ ลูกกรงระเบียงเป็นรูปกลม ผนังชั้นล่างแต่งเป็นลายอิฐ หน้าต่างชั้นบนแต่งกรอบบนเป็นเส้นตรง เฉพาะที่มุขแต่งเป็นรูปจั่ว ส่วนชั้นล่างกรอบบนประตูและหน้าต่างแต่งรูปเป็นโค้งกลม
ประตูและกำแพงล้อมพระราชวัง
กำแพงเป็นกำแพงทึบแต่งปูนเป็นลายอิฐ เสาเหลี่ยม หัวเสาประดับปูนหล่อเป็นรูปพาน ยอดติดตั้งดวงไฟ กึ่งกลางกำแพงระหว่างเสาเจาะช่องรูปไข่ปิดกั้นด้วยเหล็กดัด และแต่งปูนปั้นเป็นกรอบแบบเรียบ ประตูเหล็กดัดประดับตราบัวแก้วที่กึ่งกลางประตู
เรือนกระจก
เรือนกระจกนี้คงจะเป็นสโมสรที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ในเขตพระราชอุทยานบริเวณมุมกำแพงด้านตะวันออก ใกล้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป้นอาคารยาวชั้นเดียว มีมุขกลางเล็ก ๆ หน้าต่างกระจกรอบอาคาร ช่องลมเหนือหน้าต่างประดับไม้ฉลุลายละเอียด ส่วนหลังคาก่อเป็นราวลูกกรงซิเมนต์ ตามเสาราวลูกกรงเคยตั้งกระถางหล่อซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว
พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์
ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางพระราชอุทยาน ก่อด้วยหินอ่อนสีขาวทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดปรางค์หัก
ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง
ตั้งอยู่ทางเหนือเป็นเก๋งจีนทรงหกเหลี่ยม 3 ชั้น โครงหลังคาตึกเป็นเครื่องไม้ 2 ชั้น มุงกระเบื้องและตกแต่งลายปูนปั้นแบบจีน กรอบหน้าต่างเขียนภาพวาดแบบจีน
ศาลาแปดเหลี่ยม
ตั้งอยู่กึ่งกลางพระราชอุทยานเยื้องไปทางถนนสนามไชย เป็นศาลาขนาดใหญ่พื้นปูหินอ่อน เสาไม้ทรงสี่เหลี่ยมหูช้าง ซุ้มระหว่างเสาตีไม้ระแนงเป็นลวดลาย หลังคามุงกระเบื้องลอน
ศาลาหกเหลี่ยม
ตั้งอยู่ใกล้ปากทางเข้าทางด้านถนนเจริญกรุง เป็นศาลาโปร่งสูงโครงเหล็ก ตกแต่งด้วยลวดลายเหล็กดัด หลังคาทรงสูงประดับกระจก เหล็กดัด และไม้ฉลุลายงดงาม
สระน้ำพุ
ตั้งอยู่กึ่งกลางถนนทางเข้าด้านถนนเจริญกรุง เป็นสระทรงกลม กึ่งกลางติดตั้งพานน้ำพุ 2 ชั้น หล่อโลหะสลักลวดลายงดงามอ่อนช้อยแบบน้ำพุโรมัน
แนวรั้วและซุ้มประตู
รั้วทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ตอนล่างก่อพื้น ตอนกลางเป็นเหล็กดัดลายโปร่ง ตอนบนเป็นลายดอกไม้ประดิษฐ์ดอกใหญ่สับหว่างกัน เสารั้วทรงสี่เหลี่ยม หัวเสาเป็นแท่งสูงสอบขึ้น ตอนบนเป็นรูปปิรามิด แนวรั้วด้านใต้และด้านตะวันออกก่อกำแพงทึบ ตอนบนก่อเป็นช่องโปร่งทรงกลมรีขนาดใหญ่ หัวเสาตั้งกระถางปูนขนาดใหญ่ เสาประตูมีขนาดใหญ่มากตกแต่งด้วยเสาอิงแบบไอโอนิค ประตูเหล็กดัดลวดลายพันธุ์พฤกษาละเอียดงดงาม กึ่งกลางเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5
บรรณานุกรม
พิชญพิทักษ์. วัง พระราชวัง พระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : หอสมุดกลาง 09, 2537