สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนมหาราชบรรจบกับถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
เดิมเป็นวังหนึ่งในกลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร 5 วัง ในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต่อมาพระองค์ทรงย้ายไปประทับที่วังใหม่ริมแม่น้ำเหนือปากคลองตลาด แล้วพระราชทานวังนี้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นอุดมรัตนราษี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ทรงประทับที่วังใหมจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานวังริมน้ำแก่รมหมื่นอุดมรัตนราษี และโปรดฯให้พระองค์เจ้ามงคลเลิศกับหม่อมเจ้าองค์อื่น ๆ ในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มาอยู่วังนี้แทน เมื่อพระองค์เจ้ามงคลเลิศสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์เสด็จอยู่ต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงใช้เป็นสถานที่ราชการ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของอาคารคือเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดกระทัดรัด อยู่ตรงมุมถนนมหาราชบรรจบกับถนนราชินี อาคารเป็นตึกยกสูง ปูด้วยกระเบื้องเคลือบสีมีลวดลายแบบเดียวกับพื้นห้องภายใน บันไดทางขึ้นด้านหน้ามีเสากลม หัวเสาแบบก้นหอยเรียงกัน 4 ต้น ประดับเป็นพิเศษ ทางด้านข้างของตึกทั้งสองด้านเป็นระเบียงรูปครึ่งวงกลมมีเสากลมขนาดใหญ่ หัวเสาแบบก้นหอยคล้ายกับเสาทางด้านหน้า ไว้รองรับหลังคาระเบียงที่จัดเรียงกันเป็นคู่ ๆ โดยรอบรวมด้านละ 10 ต้น หน้าต่างรอบอาคารเป็นบานเกล็ดไม้ ช่องแสงติดกระจกประดับด้วยปูนปั้นไว้รอบ ๆ ส่วนบนของช่องแสงเป็นรูปหน้าสตรีและลายใบไม้ล้อมรอบ ประตูแต่ละช่องเป็นบานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ช่องแสงเป็นรูปไม้ฉลุตารางสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หลังคาบริเวณทางเข้าด้านหน้าประดับแผ่นปูนปั้นมีชื่อสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
บันไดทางขึ้นด้านหน้ามีเสากลมเรียงกัน 4 ต้น ที่มา : การสำรวจ |
ระเบียงรูปครึ่งวงกลมมีเสากลมขนาดใหญ่ ที่มา : ประมวลภาพวังและตำหนัก |
หัวเสาแบบโรมัน ที่มา : ประมวลภาพวังและตำหนัก |
ส่วนบนของช่องแสงเป็นรูปหน้าสตรีและลายใบไม้ล้อมรอบ ที่มา : ประมวลภาพวังและตำหนัก |
บรรณานุกรม
ประมวลภาพวังและตำหนัก. กรุงเทพฯ : บริษัท ไตร-สตาร์ พับลิชชิ่ง, 2538.
"โรงพักพระราชวังสถาปัตยกรรมย้อนยุค" Architecture & Design. ปีที่ 2, ฉบับที่ 19 (2539) : หน้า 110-113.