ศาลรัฐธรรมนูญ (อาคารสำนักงานเกษตร กรุงเทพฯ)

ที่ตั้ง
ถนนจักรเพชร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
อาคารศาลรัฐธรรมนูญแต่เดิมคือบ้านของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) อัครเสนาบดีสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบ้านเรือนที่นำแบบอย่างสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้ก่อสร้างบ้านเรือนของขุนนางไทยในสมัยนั้น ประกอบด้วยเรือนพักอาศัยขนาดใหญ่ 1 หลัง ทางทิศใต้ และเรือนบริวารด้านทิศเหนือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศวร์ได้พำนักที่บ้านหลังนี้จนถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากท่านไม่มีบุตรจึงน้อมเกล้าฯ ถวายทรัพย์สินทั้งหมดแด่รัชกาลที่ 5 บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์จึงตกอยู่ในความดูแลของกรมพระคลังข้างที่ตั้งแต่นั้นมา

ในปี พ.ศ. 2445 กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์จากกรมพระคลังข้างที่เพื่อใช้เป็นที่พักแขกเมือง และใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงธรรมการตั้งแต่ปี 2452 ต่อมาปี 2462 กระทรวงธรรมการได้รับงบประมาณสร้างตึกที่ทำการใหม่เป็นตึก 3 ชั้น การก่อสร้างต่อเติมครั้งนี้ทำให้สถาปัตยกรรมถูกเปลี่ยนจากบ้านพักอาศัยไปเป็นอาคารที่ทำการส่วนราชการ แต่สถาปนิกและผู้เกี่ยวข้องพยายามที่จะอนุรักษ์บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ไว้ให้มากที่สุดโดยการรื้อถอนเรือนบริวารที่ไม่สำคัญมากนัก ขณะเดียวกันก็พยายามก่อสร้างและต่อเติมอาคารให้มีความกลมกลืนกับบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ให้มากที่สุด บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ใช้เป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2483 กระทรวงธรรมการจึงย้ายไปอยู่วังจันทรเกษม

จากนั้นบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์กลายเป็นสถานที่ทำการกรมเกษตรและการประมงและสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร สังกัดกรมส่ง เสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศร์ได้รับการขึ้นทำเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531

เมื่อมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นองค์กรตุลาการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยใช้อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์เป็นสถานที่ทำการชั่วคราว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรให้หาสถานที่จัดตั้งที่ทำการถาวรจึงมีมติว่าบ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศร์มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ทำการถาวรของศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ประสานงานขอรับการสนับสนุนขอใช้สถานที่ดังกล่าวจากกรมธนารัษ์และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งขอให้กรมศิลปากรออกแบบการบูรณะปรับปรุงสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในให้สอดคล้องกับของเดิมแต่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยใช้งบประมาณบูรณะปรับปรุงทั้งสิ้น 141,192,000 บาท การบูรณะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ายมาทำงานก่อนเนื่องจากหมดสัญญาที่เช่าเดิม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ ค่อนข้างเรียบง่ายมี 3 ชั้น จัดวางองค์ประกอบ 2 ข้าง สมมาตร แบ่งสัดส่วนโดยใช้บัวปูนปั้นเพื่อลดความสูงของบ้าน องค์ประกอบโดยรวมเป็นศิลปในแนวทางของ Andrea Palladio ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การแบ่งช่องประตูหน้าต่างออกเป็น 3 ช่อง มีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง เหนือช่องประตูหน้าต่างเป็นโค้งครึ่งวงกลม

อาคารชั้นล่างสุดผนังเซาะร่องเป็นแนวยาวและโค้งรับกับซุ้มเหนือประตู เดินบัวปูนปั้นรอบอาคารในระดับพื้นชั้นที่ 2 เพื่อลดความสูงของบ้าน ซุ้มหน้าต่างมีลักษณะถอยร่นชิดผนังด้านใน ขณะที่ชั้นที่ 2-3 ของใหม่มีลักษณะชิดกับผนังด้านนอก

อาคารชั้นที่ 2-3 ผนังด้านนอกเป็นผนังฉาบปูนเรียบเสมอผิวหน้าวงกบหน้าต่าง มีการตกแต่งด้วยบัวปูนใต้วงกบด้านล่าง ลักษณะหน้าต่างในชั้น2 นี้ มีจำนวนและแนวตรงกับหน้าต่างชั้นล่างเกือบทั้งหมด ยกเว้นผนังด้านทิศใต้ชั้นที่ 2 มีหน้าต่างอยู่ 2 ช่อง เป็นซุ้มโค้งมีช่องแสงเหนือหน้าต่าง ส่วนชั้นที่ 3 เป็นหน้าต่างบานเกล็ดติดตาย เหนือช่องแสงมีช่องเกล็ดระบายอากาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยมีเอ็นคอนกรีตคั่นเป็นจังหวะ

หลังคาเป็นทรงปั้นหยา 4 ด้าน หันหลังชนกันมีความสัมพันธ์กับผังพื้น ชายคายื่นออกมาไม่มากนัก ความลาดเอียงของหลังคาประมาณ 35 องศาเพื่ออวดผืนกระเบื้องหลังคาซึ่งเป็นกระเบื้องว่าวหรือกระเบื้องซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่สีแดงตัดกับสีปูนน้ำอ้อยของผนังบ้าน ใต้ชายคาตีเกล็ดไม้สักชนชิด บริเวณขอบเชิงชายมีรางน้ำสำหรับระบายน้ำฝน รองรับด้วยท่อสังกะสีติดเลียบไปกับตัวบ้านและมุมผนัง ท่อระบายน้ำนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของศิลปการตกแต่งบ้านที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น การประดับตกแต่งอาคารมีน้อยมากส่วนใหญ่เป็นบริเวณซุ้มโค้งเหนือประตูหน้าต่าง ทำเป็นลายรัศมีอย่างง่าย ๆ หรือเป็นลายเรขาคณิต

             

อาคารส่วนที่ต่อเติมจากบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
เมื่อกระทรวงธรรมการได้ย้ายที่ทำการไปที่บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ได้สร้างที่ทำการใหม่เป็นตึก 3 ชั้น โดยรื้อเรือนบริวารด้านทิศเหนือแล้วสร้างอาคารใหม่เชื่อมต่อบ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศร์ อาคารใหม่มีแนวต่อเนื่องกับบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ทอดยาวไปางทิศเหนือ-ใต้ตามแนวผืนที่ดินโดยสร้างแกนอาคารขึ้นมาใหม่อยู่กึ่งกลางระหว่างส่วนต่อเติมหันหน้าเข้าสู่ถนนจักรเพชร ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารสูง3 ชั้น จัดวางองค์ประกอบ 2 ข้างสมมาตร โดยใช้ระดับความสูงของบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เป็นเกณฑ์ในการถ่ายระดับ มีแกนอาคารเป็นทางเข้าหลักอยู่กึ่งกลางของอาคาร ด้านหน้าอาคารมีการแบ่งองค์ประกอบเชิงรูปด้านทางซ้ายและด้านขวาเหมือนกับกึ่งกลางอาคาร

การออกแบบแนวอาคาร ในชั้นที่ 1 ออกแบบเป็นแนวนอนให้กลมกลืนกับชั้นล่างของบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ส่วนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ออกแบบเป็นแนวตั้ง แตกต่างจากชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 ของบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ มีการตกแต่งด้วยด้วยบัวปูนปั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียงด้านหน้าอาคาร ซึ่งมีทั้งหมด 8 ช่อง ราวลูกกรงระเบียงทางเดินเป็นรูปทรงเรขาคณิต การแบ่งช่องย่อยเหนือระเบียงทางเดินเป็นลายโปร่งหล่อปูนล้อแบบลายฉลุไม้ขนมปังขิง ส่วนเชื่อมต่อระหว่างอาคารชั้นล่างกับบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เปิดเป็นช่องโล่งเพื่อเป็นช่องทางสำหรับรถผ่าน ผนังด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหลังของอาคารฉาบปูนเรียบ การแบ่งช่องหน้าต่างด้านซ้ายและด้านขวามีจังหวะไม่เหมือนกัน ส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นเหมือนด้านหน้าอาคา

การแบ่งสัดส่วนอาคาร อาคารชั้นที่ 1 ผนังปูนภายนอกเซาะร่องล้อแบบบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สลับกับการเจาะช่องโล่งโค้งเป็นจังหวะสอดคล้องกับแนวช่องโล่งชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ภายในช่องโล่งนี้เป็นระเบียงทางเดินเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม หล่อเสาและคานหลอกตอนล่างของชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ให้เป็นราวลูกรงรูปทรงเรขาคณิต ในขณะที่ตอนบนเป็นลายโปร่งหล่อปูน 7 ช่อง หลังคาอาคารเป็นทรงปั้นหยาทอดแนวยาวต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกับบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ แต่มีการแยกส่วนโครงสร้างของหลังคาเพื่อป้องกันการทรุดตัวของบ้าบกับอาคาร โดยยกส่วนสูงของหลังคาอาคารต่อเติมนี้ให้สูงขึ้นกว่าบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ การประดับตกแต่งมีรายละเอียดมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้ลวดบัวปูนปั้นทั้งทางแนวนอนและแนวตั้งบริเวณผนังด้านหน้าอาคารและผนังด้านข้างอาคาร สิ่งที่น่าสนใจคือการนำนาฬิกาทรงกลมกรอบไม้สักตัวเลขเป็นอักษรโรมันมาประกอบกับอาคาร โดยวางอยู่ในกรอบของคิ้วปูนปั้นในแนวแกนกลางด้านหน้าของอาคาร

         

บรรณานุกรม
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ จากอดีต--สู่ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2543.
อรสรวง บุตรนาค .นำเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์จากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : บริษัท เอส.ที.พี.เวิลด์ มีเดีย จำกัด, 2542.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com