ตลาดพระท่าพระจันทร์

 

ที่ตั้ง
ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
ท่าพระจันทร์นั้นแต่เดิมเคยเป็นตลาดโบราณของกรุงรัตนโกสินทร์ มีการพัฒนามาจากตลาดน้ำและชุมชนริมน้ำที่ใช้เป็นท่าเรือข้ามฟากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ชุมชนท่าพระจันทร์เริ่มเติบโตและทวีความสำคัญขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อม ๆ กับท่าช้างและท่าเตียน เนื่องจากมีการปรับปรุงขยายเส้นทางการคมนาคม ตัดถนนมหาราชทับไปตามแนวกำแพงเมืองพระนคร ผ่านชุมชนเหล่านี้ ตลาดน้ำจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นตลาดบก เป็นตลาดขายปลีกสินค้าจำพวกพืชผักผลไม้และอาหารคาวหวาน ที่มาจากสวนฝั่งธนบุรีตามคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ อีกทั้งชาวสวนตะวันตกยังขนสินค้าการเกษตรมาลงที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย

เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2431 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2477 ตลาดท่าพระจันทร์จึงกลายเป็นตลาดที่มีผู้คนสัญจรไปมามากที่สุด แต่เดิมพื้นที่การขายสินค้าต่าง ๆ ทั้งอาหารคาวหวาน ยาแผนโบราณ สมุนไพร วัตถุโบราณ และพระเครื่อง อยู่ในบริเวณรั้ววัดมหาธาตุ มีลักษณะเป็นหาบเร่แผงลอย ต่อมาวัดมหาธาตุมีนโยบายให้ย้ายหาบเร่แผงลอยออกจากพื้นที่วัด หาบเร่แผงลอยดังกล่าวจึงได้ย้ายออกมาตั้งบริเวณท่าน้ำและถนนตั้งแต่ท่าพระจันทร์ไปจนถึงท่าช้าง

ตลา
ดพระเครื่องท่าพระจันทร์แต่เดิม ตลาดพระเครื่องนั้นขางขายกันอยู่ริมคลองหลอด เป็นรูปแบบวางขายแบกะดิน ต่อมามีการย้ายเข้ามาวางขายในเขตรั้วกำแพงวัดมหาธาตุ มีลักษณะเป็นแผงลอยและซุ้มขายพระอยู่ภายในเขตวัด ต่อมาได้ย้ายออกมาขายบริเวณฝั่งท่าเรือท่าพระจันทร์ บางส่วนได้ย้ายไปตั้งขายที่ตลาดพระเครื่องวัดราชนัดดาราม ปัจจุบันตลาดพระเครื่องท่าพระจันทร์ ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำท่าพระจันทร์เป็นแนวยาวมาถึงบริเวณหน้าวัดมหาธาตุ มีรูปแบบทั้งเป็นร้านห้องแถว ซุ้ม และแผงลอย เป็นตลาดพระเครื่องแหล่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com