บางลำพู
ที่ตั้ง
บริเวณ ถนนพระสุเมรุ ถนนสิบสามห้าง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
บางลำพูเป็นย่านที่มีความเป็นมาในระยะเวลาประมาณ 200 ปี มีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2328 มีการขุดคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่างและคลองบางลำพู) โดยมีวัตถุประสงค์คือสร้างขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองและใช้ในการคมนาคมเดินทางขนส่ง เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตะวันออกด้านเหนือตั้งแต่บางลำพูมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างใต้วัดสามปลื้ม คลองเมืองนี้เมื่อขุดแล้วทำให้เกิดเป็นทางน้ำรอบกรุง แต่ประชาชนโดยมากมักเรียกชื่อคลองแตกต่างกันเป็นตอน ๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน เช่น คลองตอนต้น เรียกว่า คลองบางลำพู ตามชื่อตำบล
ในสมัย รัชกาลที่ 2–รัชกาลที่ 3 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางลำพู ซึ่งเป็นตอนเหนือของพระบรมมหาราชวัง มีการตั้งบ้านเรือนและจอดแพพำนักในบริเวณนั้นเพื่อมาติดต่อราชการและค้าขาย บริเวณวัดชนะสงครามจะเป็นนิคมของชาวมลายู นอกจากนี้ยังมีราษฎรและข้าราชการขุนนางฝ่ายวังหน้าได้มาพักอาศัยบริเวณพื้นที่ด้านในระหว่างคลองโรงไหมและคลองบางลำพู จึงเกิดตลาดยอดหรือตลาดบางลำพูขึ้น ในสมัยแรกมีขนาดเล็กต่อมามีการขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีการปรับปรุงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2445
ตลาดยอดเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในเขตกำแพงพระนครในสมัยนั้น มีการค้าขายสินค้าหลากหลายชนิดทั้งสดและแห้ง ดอกไม้ ธูปเทียน ขนมไทยชนิดต่าง ๆ ห้างขายทองรูปพรรณ ร้านค้าเครื่องหนัง ร้านขายผ้า เริ่มจากร้านค้าขนาดเล็กจนพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มเป็นศูนย์กลางค้าที่สำคัญจนถึงปัจจุบัน และมีตลาดที่สำคัญอีกแห่งซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตลาดยอดคือตลาดนรรัตน์ เป็นตลาดผลไม้ในสมัยนั้นอยู่ในเขตนอกกำแพงพระนคร
ในปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานครเหมือนในสมัยอดีต แต่ในด้านการค้าและสินค้าๆ ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เป็นย่านการค้าที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าเป็นส่วนใหญ่ มีการสร้างห้างสรรพสินค้าขึ้นในพื้นที่ เปลี่ยนรูปแบบการค้าแบบตลาดเดิมไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้บางลำพูยังขึ้นชื่อว่าเป็นย่านที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งบันเทิงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกันดีอีกด้วย
ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไป เป็นอาคารพาณิชย์ 2 -4 ชั้น และห้างสรรพสินค้า การค้าในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการค้าที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีลักษณะการค้าเป็นร้านแบบแผงลอยริมถนน ซึ่งมีการค้าขายหนาแน่นบริเวณถนนที่ตัดเชื่อมระหว่างถนนสิบสามห้างและถนนจักรพงษ์คือ ถนนกลาง หรือประชาชนในพื้นที่เรียกว่า ซอยกลาง และร้านค้าบนถนนพระสุเมรุเป็นร้านค้าเสื้อผ้านักเรียนเป็นร้านค้าในลักษณะอาคารพาณิชย์