สะพานหัน

ที่ตั้ง
เป็นสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างปลายถนนสำเพ็ง แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 

ประวัติ
ชื่อสะพานมาจากลักษณะสะพานเมื่อแรกสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นสะพานไม้แผ่นเดียวทอดข้ามคลอง ปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นกับที่ อีกปลายหนึ่งวางพาดกับฝั่งตรงข้ามโดยไม่ตอกตรึง สามารถจับหันเปิดทางให้เรือผ่านและหันปิดสำหรับคนสัญจรข้ามคนทั่วไปเรียกสะพานแบบนี้ว่า “ สะพานหัน “ มีใช้อยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดสะพานหันได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงลักษณะจากเดิมหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้เรียบเสมอกัน ใต้พื้นไม่มีล้อเหล็กแล่นบนรางสามารถแยกสะพานออกจากกันให้เรือผ่านได้และอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างสะพานหันใหม่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสะพานอื่นๆในกรุงเทพ ฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะทรงนำแบบมาจากสะพานริอัลโดที่เมืองเวนิช และสะพานแวดคิโอ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กล่าวคือเป็นสะพานไม้รูปโค้งกว้างกว่าปกติ เพราะสองฟากสะพานมีห้องแถวเล็กๆ สำหรับให้เช่าขายของ ฟากละ 7 – 8 ห้อง ตรงกลางเป็นทางเดินกว้างประมาณ 1.5 เมดร ปัจจุบันสะพานหันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกับสะพานทั่วไปแต่ชื่อสะพานยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงลักษณะสะพานเมื่อแรกสร้าง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
อาคารเป็นโครงสร้างก่ออิฐถือปูนผสมไม้บางส่วน ตึกหลังหัวมุมจะมีหน้ามุขยื่นออกมาเป็นระเบียง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมยังคงมีอยู่ แต่ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมในบางส่วนและมีการใช้วัสดุสมัยใหม่เข้ามาใช้งานตามความเหมาะสม เช่น ใช้ผ้าใบขึงกันแดดกันฝน ส่วนล่างของอาคารในย่านสะพานหันจะเป็นร้านค้าตลอดทั้งซอย มีความหนาแน่นมาก โดยเฉพาะในวันเสาร์และอาทิตย์ เพราะเป็นแหล่งที่ขายของราคาถูก ร้านค้าในซอยก่อนเข้าถึงสะพานหันโดยมากจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้ของผู้หญิง ของใช้ต่างๆ และขนมต่างๆ

sapanhun2 sapanhun4
sapanhun5 sapanhun3

ในปี 2558 กรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่าง โดยรื้อถอนแผงร้านค้าที่รุกล้ำคลองจนบดบังทัศนียภาพบริเวณรอบคลอง ในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม จนถึง 16 พฤศจิกายน 2558 เริ่มตั้งแต่ สะพานบพิตรพิมุข สะพานหัน สะพานภานุพันธุ์ สะพานดำรงสถิตย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในช่วงการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้บริเวณริมคลองโอ่งอ่างมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม  นอกจากนี้สำนักผังเมืองยังดำเนินการออกแบบภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่โดยเบื้องต้นตึกแถวบางส่วนที่มีการหันหลังบ้านเข้าสู่คลองอาจต้องออกแบบให้มีหน้าบ้านเข้าสู่คลองเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการประกอบธุรกิจให้ประชาชนได้มีรายได้มากขึ้น โดยส่วนพื้นที่พักผ่อนริมคลองจะมีที่นั่งพัก ทางเดิน ลานอเนกประสงค์ เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

บรรณานุกรม
ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com