ตลาดสังฆภัณฑ์
ที่ตั้ง
ย่านตลาดสังฆภัณฑ์อยู่ในพื้นที่ตึกแถวริมถนนบริเวณถนนบำรุงเมือง เริ่มตั้งแต่แยกสี่กั๊กเสาชิงช้าตัดกับถนนตะนาว ผ่านหน้าวัดสุทัศน์ ฯ จนถึงแยกสำราญราษฎร์ ตัดกับถนนมหาไชย
ประวัติ
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ทรงมุ่งทำนุบำรุง กรุงรัตนโกสินทร์ให้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้า ฯให้สร้างวัดสุทัศน์เทพวรารามขึ้น กำหนดเป็นกึ่งกลางพระนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง นอกจากนั้นยังมีการสร้างเทวสถานและเสาชิงช้า ซึ่งถือเป็นคติโบราณที่ทำให้บ้านเมืองมั่นคงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระนคร บริเวณนี้จึงถือเป็นย่านใจกลางเมืองที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ เป็นย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีนได้มาตั้งหลักปักฐานยึดอาชีพค้าขายสินค้าต่าง ๆ เช่น พวกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของชำตลอดไปถึงเครื่องสังฆภัณฑ์
ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์เริ่มแรกเป็นร้านไม้คูหาขนาดเล็กตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง เริ่มตั่งแต่บริเวณประตูผีหรือประตูสำราญราษฎร์ ถนนมหาไชย (ชาวบ้านเรียกประตูผีเนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวที่นำผู้เสียชีวิตออกจากเมือง ส่วนใหญ่นำไปเผาที่วัดสระเกศ) ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ไปตามถนนบำรุงเมืองสู่ด้านทิศตะวันตกผ่านบริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรวิหารสิ้น สุดที่สี่กั๊กเสาชิงช้าตัดกับถนนตะนาว
ตึกแถวที่ขายสังฆภัณฑ์นั้นเป็นตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นลักษณะตึกแถวที่ได้รับอิทธิพลมาจากตึกแถวในปีนัง สิงคโปร์ มีลักษณะอาคารสูง 2 ชั้น กำแพงหนาเพื่อป้องกันอัคคีภัย ขอบประตูบนโค้งมน ประตูมีลักษณะเป็นบานเฟี้ยมทำจากไม้ โดยลักษณะเด่นอยู่ที่การเว้นเนื้อที่ด้านหน้าอาคารเป็นทางเดินที่มีหลังคายื่นมาจากตัวอาคารเพื่อกันแดดกันฝน (หง่อคากี่) ในยุคแรกทางเดินเหล่านี้ยังสามารถใช้การได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งเจ้าของอาคารในยุคหลังได้กั้นทางเดินของอาคารตนเองเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในจึงทำให้ทางเดินบางส่วนถูกตัดขาด จนกระทั่งตึกแถวทุกหลังได้กั้นพื้นที่ทางเดินเหล่านั้นจนกลายเป็นพื้นที่ของอาคารหลังนั้น ๆ ในที่สุด