มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ภายใต้ชื่อ " มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฏหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ อันเกี่ยวกับ วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม) รัฐบุรุษอาวุโส เป็นผู้ประศาสน์การ
การเรียนการสอนเดิมเป็นแบบตลาดวิชา ไม่จำกัดอายุของนักศึกษา ปริญญาที่ได้คือ "ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.)" ในระดับปริญญาโทจะแยกเป็น ๔ สาขา คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต ต่อมา ความผันผวนทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยโดยตรง ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย จนมหาวิทยาลัยจำต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยไม่มี "การเมือง" ต่อท้าย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และระบบการศึกษา ก็ค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบทีละน้อย จากตลาดวิชา มาเป็นระบบเต็มเวลาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และขยายการศึกษาออกไป ครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ปัจจุบัน เนื้อที่ 50 ไร่ ของธรรมศาสตร์ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นเขตพระราชฐานวังหน้ามาแต่สมัยธนบุรี ติดกับท้องสนามหลวงนั้นแน่นขนัดไปด้วยอาคารเรียนและอาคารทำการต่างๆ บริเวณที่เคยเป็นสนามเทนนิสจึงถูกก่อสร้างเป็นลานปรีดี ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่อาจารย์และศิษย์ ตลอดจนบุคลากรทุกคนในรั้วโดมให้ความสักการะบูชาแล้ว ยังเป็นลานอเนกประสงค์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจด้วย ส่วนตึกโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์และหอสมุดหลังเก่าที่ตั้งอยู่ริมประตูด้านท่าพระอาทิตย์ก็ถูกทุบทิ้งเสียหมดแล้ว เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่และสร้างสำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุดที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย