โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ที่ตั้ง
ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด โรงเรียนเพาะช่าง

ทิศใต้ จรด บริเวณอาคารพาณิชย์และถนนจักรเพชร
ทิศตะวันออก จรด ถนนตรีเพชร

ทิศตะวันตก จรด บริเวณอาคารพาณิชย์และพักอาศัย

เนื้อที่ ประมาณ 10 ไร่ 16 ตารางวา

ปีที่ก่อสร้า สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับชื่อนี้สืบเนื่องมาจาก สมัยราชการที่ 2 ซึ่งได้ขยายอาณาเขตพระราชวัง ออกไปตามด้านทิศใต้ โปรดให้ทำสวนกุหลาบ ณ บริเวณที่ว่างด้านทิศใต้นั้น สำหรับเก็บดอกกุหลาบใช้ในราชการ ครั้งถึงราชการที่ 3 โปรดให้แบ่งที่สวนกุหลาบ ส่วนหนึ่งสร้างคลังศุภรัตน์ ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน ต่อมาในสมัยราชการที่ 4 สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์(พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เจริญพระชันษาถึงเวลาเสด็จออกมาประทับอยู่ราชวังชั้นนอก ราชการที่ 4 ทรงโปรดให้จัดพระตำหนักพระราชทาน เป็นที่ประทับในที่สวนกุหลาบ ตรงตึกคลังศุภรัตน์ ที่สร้างในสมัยราชการที่ 3ตำหนักนั้นอาจเป็นการดัดแปลงตึกคลังศุภรัตน์ก็ได้ เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้กรมหลวงอดิศรดุดมเดช เสด็จออกประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบจนออกวัง จากนั้นใช้เป็นคลังเก็บของ ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพ เห็นว่าควรจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก ทรงกราบทูลพระราชดำริ เห็นชอบดำรัสให้จัดตั้งโรงเรียนและรับจะทรงอุดหนุน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลขอให้พระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นสถานที่เรียน ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาติด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ในปี พ.ศ. 2427 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้เปลี่ยนจากโรงเรียนมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน รับนักเรียนชั้นเล็ก ชั้นกลาง ชั้นผู้ใหญ่ ครั้นมีนักเรียนมากขึ้นสภาพโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับคือ ในปี พ.ศ. 2436 ย้ายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวัง แยกเป็น 2 แห่งที่ตั้งวัดมหาธาตุ ตั้งที่วังหน้าเรียกว่า สวนกุหลาบวังหน้า พ.ศ. 2448 ย้ายไปที่ตึก แม้นนฤมิตร วัดเทพศิรินทร์  เรียกว่าสวนกุหลาบอังกฤษเทพศิรินทร์        ห้าปีต่อมาพ.ศ. 2453

ย้ายมารวมกับโรงเรียนราชบูรณะ ตอนนี้เรียกว่าสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อสร้างตึกเรียนเสร็จใหม่ พ.ศ.2453 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาทอดพระเนตร ทั้งๆที่ประชวรอยู่ เมื่อได้เปิดตึกเรียนแล้วโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ใช้ตึกนี้เป็นที่เล่าเรียน และราชการที่ 5 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ตลอดมา นับว่าพระองค์ ทรงก่อกำเนิดโรงเรียนนี้โดยแท้

ตึกยาวริมถนนตรีเพชรเป็นอาคารเรียนที่สร้างในสมัยราชการที่ 5 คือ เดิมวัดราชบูรณะจะสร้างตึกแถวเพื่อเก็บค่าเช่า กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) จึงมีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานที่ตรงข้ามวัดราชษูรณะ และขอเช่าตึกแถวทั้งหมดแทนโดยเก็บจากนักเรียนคนละบาท ลักษณะตึกขนานตามถนน และปรับปรุงข้างหน้าทำเป็นหน้าต่าง ข้างหลังปรับเป็นเฉลียงทางเดิน โดยให้กรมศึกษาเป็นผู้จ่ายค่าเช่าแก่วัด จึงกลายเป็นตึกสวนกุหลาบ หรือตึกยาวดังปัจจุบัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารโรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นอาคารเรียนในแนวเหนือ-ใต้ ริมถนนตรีเพชร สูง 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าอาคารชั้นล่างเป็นห้องเรียน ชั้นบนเป็นเป็นเฉลียงทางเดินสลับกับห้องเรียน ส่วนด้านหลังเป็นทางเดินเฉลียง หน้าต่างมีแตกต่างกัน 2 แบบ คือ เป็นแบบบานกะทุ้ง บานเกร็ด และแบบบานลูกฟัก-กระดานดุน ส่วนบนของกรอบหน้าต่างมีลายปูนปั้นประดับ ตรงมุมถนนจักรเพชรมีกระบังปูนปั้น มีจำนวน 2 แห่ง ประดับลวดลายตรงกลางเป็นลายดอกไม้ ภายในกรอบรูปไข่ ส่วนยอดของกระบังเป็นลายใบไม้ ทางเข้าถนนด้านถนนตรีเพชร ชั้นบนเป็นอาคารเรียน ชั้นล่างเป็นทางเข้า หลังคาทางช่องนี้ทำเป็นจั่วอาคาร ประดับตราโรงเรียนเป็นรูปดอกกุหลาบ พระเกี้ยวและพระปรมาภิไธย จ.ป.ร.

ปัจจุบันอาคารอยู่ในสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงแต่ก็ยังเปิดใช้งานอยู่ ชั้นล่างบางห้องใช้เป็นห้องเรียน ชั้นบนใช้เป็นห้องสมุด บางส่วนของอาคารที่มีการทรุดตัวมากก็จะปิดห้องไว้ไม่ให้เข้าและ ห้ามผ่าน สภาพทั่วไปทรุดโทรม

ลักษณะเด่นของตัวอาคาร
     ลักษณะของอาคารทอดยาวไปตามถนน และมีหน้าต่างเป็นซุ้มรูปทรงต่างๆ เป็นแถวไปทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ส่วนด้านหลังเป็นเฉลียงยาวทั้งชั้นและชั้นล่าง ตรงเฉลียงเสารับคานโค้งไปตลอด ซึ่งสวยงามและกลมกลืนกับอาคาร สมควรที่จะทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีและอนุรักษ์ไว้

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com