ประตูสามยอด
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณ ตลาดสำเพ็ง ปลายถนนเจริญกรุง
ประวัติ
ชื่อสามยอดมาจากชื่อประตูชั้นนอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ประตูสามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทนประตูพฤฒิบาศ ซึ่งเป็นประตูเมืองเดิมที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประตูนี้เคยได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดให้เปลี่ยนจากประตูไม้เป็นประตูก่ออิฐถือปูน บนหลังประตูสร้างเป็นหอรบมุงกระเบื้องมีจั่วหน้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตัดถนนเจริญกรุงผ่านประตูนี้ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจราจรผ่านประตูนี้เริ่มติดขัดเพราะประตูคับแคบจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมหมื่นเป็นแม่กองเปลี่ยนแปลงประตูจากช่องเดียวเป็นประตู 3 ช่องติดต่อกัน บนประตูแต่ละช่องมียอดแหลม ด้วยลักษณะที่แปลกกว่าประตูอื่นๆ ประชาชนจึงเรียกประตูนี้เป็นสามัญว่า “ประตูสามยอด” และเรียกบริเวณนี้ว่า “ตำบลสามยอด”
ประตูสามยอด ถนนเจริญกรุง
ที่มา : หนังสือกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี
ในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจราจรบนถนนเจริญกรุงเริ่มคับคั่งและติดขัด จึงโปรดให้ขยายถนนประตูสามยอดซึ่งสร้างคร่อมอยู่บนถนนเจริญกรุง เป็นสิ่งกีดขวางการดำเนินจึงถูกรื้อถอนลงในครั้งนั้น ปัจจุบันแม้จะไม่มีประตูสามยอดให้เห็นเป็นประจักษ์พยานแล้วก็ตาม แต่ลักษณะพิเศษของประตูก็ยังคงเป็นที่จดจำของประชาชนทั่วไปมิรู้ลืม ชื่อประตูสามยอดหรือสามยอดจึงได้ใช้เรียกขานสถานที่สำคัญที่อยู่ในบริเวณนั้น อันได้แก่ อำเภอสามยอด กองปราบปรามสามยอด สถานีวิทยุกระจายเสียงสามยอด เป็นต้น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม/ศิลปกรรมที่สำคัญ
เป็นประตูก่ออิฐถือ มีทางเข้า 3 ช่องติดต่อกัน แต่ละช่องของประตูทำยอดแหลมขึ้นไปช่องละ 1 ยอด
บริเวณตลาดสำเพ็ง มองเห็นประตูสามยอดด้านหลัง
ที่มา : หนังสือภาพประวัติศาสตร์ (กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
บรรณานุกรม
เทพชู ทับทอง. กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี. กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2524.
เปลื้อง ณ นคร. ภาพประวัติศาสตร์ (กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2537.