ท่าพระจันทร์

ประวัติ

บริเวณท่าพระจันทร์เคยเป็นที่ตั้งป้อมพระจันทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น พ.ศ. 2326 เป็นป้อมตามแนวกำแพงพระนครด้านตะวันตก เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นป้อมทางมุมกำแพงตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคลถึงรัชกาลที่ 5

ในปลายสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอเช่าที่ดินบริเวณนี้จากพระคลังข้างที่ เพื่อทำเป็นท่ารับส่งคนโดยสาร ภายหลังได้มีผู้ติดต่อขอเช่าช่วงท่าพระจันทร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินกิจการเอง ท่านผู้นั้นคือ พระยาสากล หลังจากนั้น คุณหญิงบุนปัน (ภริยาพระราชมนตรี) ได้ดำเนินกิจการ และในปัจจุบัน คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ได้ดำเนินการอยู่

 

สภาพแวดล้อมทั่วไป

เดิมท่าพระจันทร์มีทั้งหมด 3 ท่า คือ 1.ท่าพระจันทร์เหนือ เป็นท่าสำหรับเรือข้ามฟากไปยังท่ารถไฟและโรงพยาบาลศิริราช 2. ท่าพระจันทร์กลาง เป็นท่าสำหรับเรือข้ามฟากไปยังท่าพรานนก 3.ท่าพระจันทร์ใต้ (เดิมเรียกว่า ท่ามหาธาตุ) เป็นท่าเรือข้ามฟากไปยังท่าศิริราช

          ท่าเรือท่าพระจันทร์ในปัจจุบันคือท่าเรือท่าพระจันทร์เหนือเดิม เป็นท่าสำหรับข้ามฟากไปยังท่าวังหลัง (ศิริราช)

 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเดิม

          เดิมบริเวณตัวท่าพระจันทร์เหนือแยกเป็น 2 ท่า ตัวท่าเป็นพื้นไม้หลังคามุมสังกะสีอยู่ติดกันทั้ง 2 ท่า เป็นท่าที่ประชาชนใช้ข้ามฟากจากท่าพระจันทร์เหนือไปยังท่าพรานนกท่าหนึ่งและท่ารถไฟอีกท่าหนึ่ง บริเวณตัวท่ามีร้านขายอาหารและแผงขายหนังสือ ส่วนตัวโป๊ะ มี 2 โป๊ะ มีบันไดจากตัวท่าทอดสู่ตัวโป๊ะ ตัวโป๊ะเป็นพื้นไม่มีหลังคา มีที่นั่งให้ผู้โดยสารเรือนั่งพัก

          ปัจจุบันตัวท่าพระจันทร์ เป็นอาคารคอนกรีต ภายในอาคารเป็นร้านค้าขายสินค้าตลอดทางเดินไปสู่ท่าเรือ โดยมีสะพานเหล็กทอดเชื่อมเพื่อใช้เป็นทางเดินลงสู่โป๊ะเรือ

 

DSC 0104 DSC 0057

อาคารท่าพระจันทร์ และภายในอาคาร

DSC 0082 DSC 0034

ที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร

DSC 0074-2 DSC 0027

สะพานเหล็กทอดเชื่อมสู่โป๊ะเรือและโป๊ะเรือ

 

บรรณานุกรม

        เดโช สวนานนท์. (บรรณาธิการ). (2525). จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯกรมศิลปากร.

        รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 4 . (2535). กรุงเทพฯงานผังรูปแบบฯ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com