ท่าช้างวังหลวง
ที่ตั้ง
ถนนหน้าพระลานข้างราชนาวีสโมสร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะแต่เดิมการคมนาคมต้องอาศัยทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ท่าช้างวังหลวงเป็นบริเวณประตูเมืองที่นำช้างฝ่ายพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง ลงอาบน้ำ จึงเรียกกันว่า “ท่าช้างวังหลวง”
ใน พ.ศ. 2351 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากจังหวัดสุโขทัยลงมาทางแพเพื่อประดิษฐานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อชะลอพระพุทธรูปขึ้นจากท่าไม่สามารถผ่านเข้าประตูได้ โปรดให้รื้อประตูและกำแพงบางส่วนออก โปรดให้สร้างประตูใหม่ พระราชทานนามว่า “ประตูท่าพระ” คำว่า “ท่าพระ” จึงเป็นนามที่ใช้เรียกกันเป็นทางราชการ แต่ประชาชนยังคงนิยมเรียกว่า “ท่าช้าง”
สภาพแวดล้อมทั่วไป
จากถนนหน้าพระลานมายังตัวท่าสองฟากเป็นอาคาร ทางด้านซ้ายมือเป็นอาคารของราชนาวิกสโมสรของทหารเรือ ทางด้านขวาเป็นอาคารพาณิชย์เป็นร้านค้า หาบเร่ และแผงลอย
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เดิมบริเวณท่าก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องต่อจากตัวท่ามีสะพานไม้ ทอดเชื่อมไปต่อกับสะพานเหล็กเพื่อใช้เป็นทางเดินไปยังโป๊ะเรือ และมีทางเดินแยกไปทางซ้ายอีกโป๊ะหนึ่ง ปัจจุบันตัวท่าเป็นพื้นไม้ ทอดเชื่อมกับสะพานเหล็กเพื่อใช้เป็นทางเดินไปยังโป๊ะเรือ และมีทางเดินแยกไปทางซ้ายอีกโป๊ะหนึ่ง โดยตัวท่าเป็นคอนกรีต เชื่อมต่อกับสะพานเหล็ก เพื่อใช้เป็นทางเดินไปยังโป๊ะเรือด่วน
สภาพบนตัวท่า สะพานลงสู่โป๊ะเรือ
โป๊ะเรือ
ทางเดินสู่โป๊ะเรือด่วน
โป๊ะเรือด่วน
บรรณานุกรม
เดโช สวนานนท์. (บรรณาธิการ). (2525). จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 4. (2535). กรุงเทพฯ: งานผังรูปแบบฯ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร.