สะพานสมมตอมรมารค (The Sommot Anaramarks Bridge)
ที่ตั้ง
เป็นสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างบริเวณที่เรียกว่า ประตูผี ถนนบำรุงเมืองทางทิศตะวันตก แขวงสำราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
ในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีสะพานเก่าซึ่งใช้โครงเหล็กรองรับพื้นที่ชักเลื่อนออกจากกันได้ตามแบบสะพานรุ่นเก่าที่ยังคำนึงถึงมาตรการป้องกันพระนครโดยอาศัยคูเมือง ในปี ร.ศ. 120 ปรากฏว่าสะพานนี้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก ประกอบกับจะได้มีการตัดถนนบาตรขึ้นที่เชิงสะพานด้านทิศตะวันออกรางเหล็กของสะพานเลื่อนเก่าเป็นที่กีดขวางหัวถนนใหม่นี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบัญชาให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างทรงพระราชทานนามว่า “สะพานสมมตอมรมารค” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กรมโยธาธิการสร้างเสร็จในพุทธศักราช 2445 จัดเป็นสะพานขนาดกลางที่มีลักษณะงดงามมากสะพานหนึ่ง โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นประดับตัวสะพานและลูกกรงสะพานคอนกรีต
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะสะพานในปัจจุบันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 7.50 เมตร ยาว 23.00 เมตร พนักราวสะพานทั้งสองข้างเป็นคอนกรีตเจาะเป็นช่อง ลูกกรงเป็นปูนปั้นทำเป็นลายวงกลมเกี่ยวพันกัน 5 วง แต่ละช่องกั้นด้วยรูปจำลองเสาแบบ Ionic ขนาดเล็ก ปลายพนักทั้งสี่เป็นลายขดลักษณะเหมือนตัว “S” ขนาดใหญ่ ที่ขอบพื้นสะพานด้านนอกมีลายวงกลมต่อเนื่องกันตลอดแนว มีแผ่นจารึกนามสะพานตั้งอยู่บนพนักราวสะพานทั้งสองข้าง ลักษณะลวดลายประดับของสะพานสมมตอมรมารคนี้งดงามกว่าสะพานดำรงสถิต ได้รับการบูรณะขยายพื้นผิวจราจรบนสะพานในรัชกาลปัจจุบัน
ลวดลายที่ปลายพนัก ที่มา : หนังสือสะพานเก่าในกรุงเทพ |
รูปจำลองเสา | รูปจำลองเสา |
ลูกกรงลายวงกลมเกี่ยวพันกัน 5 วง | แผ่นจารึกนามสะพาน | หัวเสาแบบ Ionic |
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.
ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520.