สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 (The Charlerm Sawan 58 Bridge)
ที่มา : สะพานเก่ากรุงเทพฯ |
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ปากคลองคูเมืองเดิม เชื่อมถนนราชินีและถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันบริเวณนี้หมดสภาพสะพานและได้ย้ายบางส่วนของสะพานไปสร้างที่อื่นแล้ว
ประวัติ
สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 เป็นสะพานที่สร้างขึ้นโดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพุทธศักราช 2453 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร เป็นค่าก่อสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเลือกสถานที่แล้วแต่ยังไม่ทันได้ลงมือสร้างและพระราชทานนามก็ประชวรเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลดำเนินการต่อ ได้พระราชทานเงินเพิ่มเติม แล้วสร้างเสร็จในพทธศักราช 2455 และทรงพระราชทานนามว่า “ สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ” เป็นอนุสรณ์แห่งการเสด็จสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดในวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2455 สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 นี้เป็นสะพานสุดท้ายในสะพานชุดที่ขึ้นต้นชื่อด้วยว่า “ เฉลิม ” และนับว่าเป็นสะพานที่คู่กับสะพานเจริญรัช 31 ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมที่ปากคลองตลาด สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 นี้เป็นสะพานสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 และสะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานแรกที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 และสะพานทั้งสองนี้สร้างข้ามปากคลองคูเมืองเดิมแต่คนละด้านกัน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะสะพานเป็นสะพานรูปโค้ง เชิงสะพานด้านตะวันตกลาดเป็นท่าลงสู่แม่น้ำทั้งสองฝั่งคลอง พนักสะพานทั้งสองข้างทำป็นลูกกรงปูนปั้น ที่เชิงสะพานทั้งสองฝั่งทำเป็นต้นเสาคู่ทูนวงหรีดรูปไข่ ภายในจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ที่ฐานเสามีจารึกนามสะพานและรัตนโกสินทร์ศก 130 อันเป็นปีที่สร้าง
ฐานเสาและลูกกรงสะพาน |
มุมมองจากสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ออกสู่แม่น้ำ |
เสามุมสะพาน |
พระนามาภิไธยบนยอดเสา |
ที่มา : สะพานเก่ากรุงเทพฯ |
ในพุทธศักราช 2514 มีการสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยราชการหลายหน่วยมีมติว่าไม่เป็นการสมควรที่จะมีสะพานในพระปรมาภิไธยอยู่ใต้ทางลาดของสะพานใหม่ และจำเป็นต้องปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้เพื่อรองรับการจราจรจากสะพานใหม่ด้วย เพื่อสงวนรักษาอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ไว้ ทางราชการจึงทำการย้ายสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ไปสร้างเป็นสะพานข้ามคลองที่ถนนสายเอกในสวนลุมพินี ส่วนบริเวณที่ตั้งสะพานเดิมของสะพานนั้น ได้ปรับปรุงเป็นถนนลอดใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ดังสภาพที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ศิริชัย นฤมิตรเรขการ.สะพานเก่ากรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : สยามสมาคม, 2520.