สะพานเจริญรัช 31 (The Charoen Ruj 31 Bridge)
ที่ตั้ง เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมด้านใต้ส่วนที่เรียกว่าปากคลองตลาด ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างสะพานคู่กับสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ที่ปากคลองเหนือ
ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์เท่าพระชนมวารให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ในวันเฉลิมพระชนมายุ 31 พรรษา ในพุทธศักราช 2453 อันเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และพระราชทานนามว่า " เจริญชัย 31" สะพานแห่งนี้เป็นสะพานแรกในสะพานชุดที่ชื่อขึ้นต้นด้วย “ เจริญ.... ” นำหน้า อุทิศเป็นสาธารณกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ มีความหมายว่าเมื่อรัชกาลที่ 5 เฉลิมสวรรค์แล้ว รัชกาลที่ 6 ก็เจริญรัชกาล สืบต่อไป
ลักษณะสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะสะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทอดข้ามคลอง พนักราวสะพานทั้งสองข้างโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ลูกกรงสะพานทั้งสองข้างประดิษฐ์เป็นลูกกรงปูนปั้นรูปเสือป่ายืนหันข้างประคองพระขรรค์ด้วยเท้าคู่หน้าทั้งคู่ โดยหันหน้าเข้าหากันที่บริเวณกึ่งกลางราวสะพาน อันหมายถึงกิจการเสือป่าที่ทรงสถาปนาในปีเดียวกันนี้ กึ่งกลางสะพานเป็นรูปคล้ายโล่จารึกนามสะพาน แวดล้อมด้วยลายใบไม้แบบยุโรป เหนือราวสะพาน มีพระปรมาภิไธยย่อว่า ว.ป.ร. ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ปลายราวสะพานทั้งสองฝั่งมีแป้นกลมจารึกเลข 31 ซึ่งหมายถึงพระชนมายุ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนสะพานเจริญรัช 31 เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 61 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2518
โล่จารึกนามสะพานและพระปรมาภิไธยย่อว่า ว.ป.ร.ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี |
ลักษณะลูกกรงราวสะพานเป็นรูปปูนปั้นรูปเสือป่า ประคองพระขรรค์ด้วยเท้าคู่หน้าทั้งคู่ แป้นกลมจารึกเลข 31ซึ่งหมายถึงพระชนมายุ บริเวณปลายสะพาน |
บรรณานุกรม
ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520.